LHK คาดผลงาน Q4 งวดปี 63/64 โตต่อเนื่อง ตามกลุ่มยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น

นายวิทวัส อัครพงษ์พิศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โลหะกิจ เม็ททอล (LHK) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 งวดปี 63/64 (ม.ค.-มี.ค.64) จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 งวดปี 63/64 (ต.ค.-ธ.ค.63) เป็นไปตามกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายดีขึ้น จากยอดผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นมา หลังจากเผชิญภาวะโควิด-19 ทำให้ต้องมีการชะลอการผลิต รวมถึงมีการปิดโรงงานในบางแห่งไปในช่วงต้นปี 63

ทั้งนี้ในปี 63 มียอดผลิตรถยนต์ อยู่ที่ 1,426,970 คัน และทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าในปี 64 จะมียอดผลิตรถยนต์เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน มองว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจหลัก คือ การผลิตและจำหน่ายท่อสแตนเลสให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ของบริษัทฯ

ส่วนการผลิตและจำหน่ายท่อสแตนเลสให้กับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ไปแล้ว โดยการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์, การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากยอดการส่งออกสินค้าในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาเป็นบวก ขณะเดียวกันชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทำให้ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น หรือทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้เห็นการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ๆ มากขึ้นด้วย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ต้องติดตาม คือ หลายประเทศเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และสามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ทำให้มีการผลิตมากขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ, การหดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าใหม่ รวมถึงการขยายมาตรการ Safeguard กับสินค้าเครื่องซักผ้าของสหรัฐออกไปอีก 2 ปี

ด้านการผลิตและจำหน่ายท่อสแตนเลสให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการภาครัฐ ปัจจุบันการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมาจากทางภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ภาคเอกชนยังคงลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงได้รับงานในส่วนของการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู เป็นต้น ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ชะลอการประมูลออกไป คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากการสั่งซื้อได้มีการดำเนินการไปแล้ว

พร้อมกันนี้ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบ ได้แก่ การก่อสร้างภาคเอกชนลดลง ภาครัฐชะลอตัว, ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายทำให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสแรกค่อนข้างต่ำ

นายวิทวัส กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงประเมินรายได้ปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 2,777.89 ล้านบาท จาก 9 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ธ.ค.63) มีรายได้อยู่ที่ 1,588.33 ล้านบาท จากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทฯ คาดหวังว่าไตรมาสที่เหลือนี้จะสามารถเติบโตได้ ประกอบกับคาดว่าปีนี้จะยังมีกำไรสุทธิ จาก 9 เดือนที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 50.45 ล้านบาท จากการลดค่าใช้จ่ายในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง

“เราคาดว่าไตรมาสสุดท้ายนี้คงไม่แย่กว่าเดิม ถ้าไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบ เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา” นายวิทวัส กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 64)

Tags: , ,
Back to Top