นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.64 อยู่ที่ระดับ 101.82 หดตัว 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวซึ่งสะท้อนจาก MPI การกลั่นน้ำมันหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ม.ค.64 กลับมาติดลบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นตามลำดับ หลังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษเดือน ม.ค.64 ขยายตัว 8.22% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน
“ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 6.03% โดยระดับการผลิตอยู่ที่ 101.82 และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 66.41% สะท้อนภาพเศรษฐกิจเดือนแรกปี 2564 มีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้น” นายทองชัย กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการกระจายวัคซีนโควิค-19 ทั้งในและต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จำนวนการแพร่ระบาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้ผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม อาทิเช่น ร้านอาหารเปิดบริการได้ตามปกติ สถานบันเทิง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือน ม.ค.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.86% จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายสถานประกอบการมีนโยบายให้พนักงาน work from home ประกอบกับการลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จึงส่งผลให้กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ ถุงอาหาร ขวด และเครื่องใช้ในครัวเรือนขยายตัวมากกว่าปีก่อน
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.44% จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้สถานการณ์ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจีนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงนี้
- เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.63% จากเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้เป็นหลัก จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถกลับมาส่งสินค้าได้ตามปกติหลังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงก่อนหน้า
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.21% จากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลาเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตอาหารแมวเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเลิกการผลิตและหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพื่อจำหน่ายแทน
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.74% จาก สินค้า Printer เป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้ผลิตจากอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ รวมถึงความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน work from home
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ม.ค.64 อยู่ที่ 66.41% เพิ่มขึ้นจาก 63.16% ในเดือน ธ.ค.63
ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่า ดัชนี MPI ปีนี้จะขยายตัว 2.0-3.0% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 2.5-3.5% ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-31 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 48-55 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ความคืบหน้าในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกได้จัดส่งถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวานนี้ และจะเริ่มฉีดเข็มแรกโดยเร็วที่สุดตามแผนการกระจายวัคซีน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 64)
Tags: GDP, MPI, จีดีพี, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ทองชัย ชวลิตพิเชฐ, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรม, เศรษฐกิจไทย