นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จากโครงการเราชนะ คนละครึ่ง และ ม33 เรารักกัน มีผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท โดยช่วยหนุนภาคธุรกิจสูงสุดใน 3 อันดับแรก คือ 1.สาขาการขายส่ง-ขายปลีก รองลงมา คือสาขาที่พักแรม-บริการด้านอาหาร และ 3. สาขาการผลิตอุตสาหกรรม
พร้อมมองว่าเมื่อรวมทุกมาตรการ/โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแล้ว จะมีผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ของไทยให้เพิ่มขึ้นได้จากเดิม 1.76% ซึ่งรวมแล้วทำให้คาดว่า GDP ปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.0% แต่หากมีปัจจัยบวกอื่นเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การกระจายวัคซีนไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลกมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาฟื้นตัว และไทยสามารถกลับมาเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 6 ล้านคนในปีนี้ ก็มีโอกาสที่ GDP ปีนี้จะขึ้นไปที่ 3.0-3.5% ได้
นายธนวรรธน์ ยังเปิดเผยถึงผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อมาตรการ/นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็น “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ให้คะแนนมากสุดในเรื่องการช่วยลดภาระถึง 9.28 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 รองลงมา ให้คะแนนความพึงพอใจ 9.18 คะแนน กระตุ้นเศรษฐกิจ 9.16 คะแนน และกระตุ้นการใช้จ่าย 9.14 คะแนน โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 88.2% ตอบว่าต้องการให้มีโครงการนี้ต่อไป โดยมี 11.8% ตอบว่าไม่แน่ใจ
โดยปัญหาหรืออุปสรรคจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเครื่องรูดบัตรเสีย ระบบไม่เสถียรมีปัญหาบ่อยเกินไป ทำให้ต้องรอนาน, ร้านค้าอยู่ไกล หรือมีร้านเข้าร่วมโครงการน้อย, ราคาสินค้าแพงขึ้น, วงเงินที่ได้รับน้อยไป เป็นต้น
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วม “โครงการคนละครึ่ง” ให้คะแนนมากสุดในเรื่องการช่วยลดภาระ 9.09 คะแนน ความพึงพอใจ 9.04 คะแนน และการกระตุ้นการใช้จ่าย ได้คะแนนเท่ากับกระตุ้นเศรษฐกิจที่ 8.97 คะแนน โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 92.7% ตอบว่าต้องการให้มีโครงการนี้ต่อไป มีเพียง 7.3% ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ
ขณะที่ปัญหาหรืออุปสรรคจากโครงการคนละครึ่ง ส่วนใหญ่ตอบว่า แอปพลิเคชั่นล่ม ระบบล่าช้า รอนานเกินไป, จำนวนเงินน้อยเกินไป, สินค้ามีราคาแพงขึ้นมาก และมีสินค้าเข้าร่วมโครงการน้อยเกินไป, ไม่มีเงินฝากในบัญชี ต้องเติมเงินก่อนจึงจะใช้งานได้
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วม “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ให้คะแนนมากสุดในเรื่องการช่วยลดภาระ 7.58 คะแนน รองลงมา เป็นคะแนนการกระตุ้นการใช้จ่าย 7.26 คะแนน การกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.23 คะแนน และความพึงพอใจ 6.94 คะแนน โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.3% ตอบว่าต้องการให้มีโครงการต่อไป ในขณะที่ 32.2% ตอบว่าไม่แน่ใจ และอีก 6.5% ตอบว่าไม่อยากให้มี
โดยปัญหาหรืออุปสรรคจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่วนใหญ่ตอบว่า ต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง ขั้นตอนการใช้งานยุ่งยาก, เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องยกเลิกการเดินทาง, โรงแรม-ที่พักมีการเก็บเงินเพิ่ม
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วม “โครงการเราชนะ” ให้คะแนนมากสุดในเรื่องกระตุ้นการใช้จ่ายที่ 6.85 คะแนน รองลงมา เป็นความพึงพอใจ 6.73 คะแนน ช่วยลดภาระ 6.51 คะแนน และกระตุ้นเศรษฐกิจ 6.41 คะแนน โดยกลุ่มตัวอย่าง 75.6% ตอบว่าอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป ขณะที่ 19.5% ตอบว่าไม่แน่ใจ และอีก 4.9% ตอบว่าไม่อยากให้มี
ขณะที่ปัญหาหรืออุปสรรคจากการร่วมโครงการเราชนะ ส่วนใหญ่ตอบว่า อยากได้เงินสดมากกว่า, เงื่อนไขและข้อกำหนดมากเกินไป, ร้านค้าอยู่ไกล มีการตั้งราคาสินค้าสูงขึ้น และสินค้ามีน้อย
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วม “โครงการ ม33 เรารักกัน” ให้คะแนนมากสุดในเรื่องการช่วยลดภาระ เท่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ 7.75 คะแนน ความพึงพอใจ 7.50 คะแนน และกระตุ้นการใช้จ่าย 7.00 คะแนน โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 100% ตอบว่าอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป
โดยปัญหาหรืออุปสรรคจากการร่วมโครงการ ม33 เรารักกัน ส่วนใหญ่ตอบว่า เงื่อนไขการแบ่งแยกกลุ่ม และการกำหนดวันในการเข้าถึงสิทธิมากเกินไป, ระบบลงทะเบียนมีปัญหา, ต้องการยอดเงินเท่ากับมาตรการอื่นๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)
Tags: การท่องเที่ยว, คนละครึ่ง, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เราชนะ, เรารักกัน