ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้เฝ้าจับตาสถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างเฟซบุ๊กและรัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ได้สั่งปิดกั้นข่าวสารของสื่อออสเตรเลียทั้งหมดบนเฟซบุ๊กเพื่อตอบโต้ร่างกฎหมายที่เรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวให้กับสื่อออสเตรเลีย แม้ว่าในขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายยอมเจรจา และบรรลุข้อตกลงกันได้
In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว พร้อมย้อนรอยปมปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเฟซบุ๊กและรัฐบาลออสเตรเลีย
ศึกโซเชียลเดือด : ออสเตรเลียเปิดศึก เฟซบุ๊ก “อันเฟรนด์”
“หากคุณทำธุรกิจในออสเตรเลีย คุณจำเป็นต้องปฎิบัติตามกฎหมายที่อนุมัติโดยรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมา” ถ้อยแถลงของนายพอล เฟลทเชอร์ รัฐมนตรีด้านการสื่อสารของออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นสถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างออสเตรเลียและเฟซบุ๊ก หลังจากเฟซบุ๊กสั่งบล็อกข่าวสารต่างๆ ของสำนักข่าวออสเตรเลียและช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในออสเตรเลียไม่สามารถเข้าถึงและแบ่งปันข่าวสารบนเพจเฟซบุ๊กได้
การสั่งระงับคอนเทนต์ข่าวของเฟซบุ๊กอย่างกระทันหันนี้สร้างความเสียหายอย่างมากกับผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ในออสเตรเลียอย่างไม่ต้องสงสัย เพจของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่น สำนักงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมอุตุนิยมวิทยาถูกบล็อกเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานชาวออสเตรเลียไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ในช่วงเวลาที่เปราะบาง โดยเฉพาะเป็นช่วงที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอยู่ในฤดูที่เกิดไฟป่า
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเฟซบุ๊กมีขึ้นเพื่อตอบโต้ร่างกฎหมาย News Media Bargaining Code ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งกำหนดว่าบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก และกูเกิล ต้องบรรลุข้อตกลงการจ่ายเงินให้กับบรรดาบริษัทสื่อท้องถิ่น ก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า และหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ คณะอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลออสเตรเลียจะเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาคอนเทนต์
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยแสดงความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อเฟซบุ๊ก และอาจเปิดช่องทางให้ธุรกิจสื่อคิดค่าข่าวได้ตามอำเภอใจ นอกจากนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าได้รับผลตอบแทนจากสื่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากคอนเทนต์ข่าวปรากฎบนนิวส์ฟีดเพียง 4% เท่านั้น ขณะที่บริษัทสื่อสามารถทำรายได้กว่า 407 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียจากการนำคอนเทนต์ไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ ท่าทีอันแข็งกร้าวของเฟซบุ๊กก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า การตัดสินใจดังกล่าวตอกย้ำสถานะการผูกขาดตลาดของบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างชัดเจน
เบเนเดตต้า เบรวินี รองศาสตราจารย์ภาควิชาสื่อและการสื่อสารของมหาวิทยาลัยซีดนีย์มองว่า “แม้ว่าเฟซบุ๊กเปิดเผยว่าคอนเทนต์ข่าวสร้างรายได้เพียง 4% เท่านั้น แต่เฟซบุ๊กได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากการรวบรวมข่าวสารและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งาน และนำไปสร้างมูลค่าทางการเงินได้อีกด้วย”
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส : วิธีรับมือที่แตกต่างของ “กูเกิล”
ในอีกฝากหนึ่งนั้น กูเกิล บริษัทในเครือของอัลฟาเบท อิงค์ได้เคยออกมาร่วมแสดงจุดยืนกดดันให้ออสเตรเลียผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าว และขู่ว่าจะระงับการให้บริการสืบค้นข้อมูล (search engine) ในออสเตรเลีย แต่ภายหลังกูเกิลได้ยอมบรรลุข้อตกลงกับบริษัทสื่อในออสเตรเลียหลายแห่ง เช่น บริษัทไนน์ เอนเตอร์เทนเมนท์ รวมถึงการทำสัญญาระยะเวลา 3 ปีกับบริษัทนิวส์ คอร์ป สื่อยักษ์ใหญ่ของนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นเจ้าของสื่ออย่าง The Wall Street Journal, The Times, และ The Australian
กูเกิลไม่เพียงแต่ยินยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ข่าวเพียงเท่านั้น แต่ยังดึงมือ นิวส์ คอร์ป เข้ามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มข่าวแบบสมัครสมาชิกที่ใช้ชื่อว่า Google News Showcase ซึ่งเป็นฟีเจอร์บริการอ่านข่าวของกูเกิล โดยกูเกิลจะจ่ายเงินให้สำนักข่าวเป็นการลงทุนระยะยาว 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อดึงผู้ผลิตเนื้อหาและสำนักข่าวเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ กูเกิลจะแบ่งปันรายได้จากค่าโฆษณาผ่านทางบริการเทคโนโลยีของกูเกิล รวมไปถึงการนำเสนอข่าวสารผ่านเสียง และวิดีโอข่าวบนยูทูบด้วย
นายโรเบิร์ต ทอมสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนิวส์ คอร์ปกล่าวถึงความสำเร็จของข้อตกลงนี้ว่า “นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับบริษัทของเรา ผมรู้สึกยินดีที่เงื่อนไขการทำธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เฉพาะสำหรับนิวส์ คอร์ปเท่านั้น แต่สำหรับผู้ผลิตข่าวสารทุกรายเช่นกัน”
มูลเหตุความขัดแย้ง : สื่อท้องถิ่นเสียเปรียบเฟซบุ๊ก-กูเกิล
มูลเหตุของความขัดแย้งไม่ได้มาจากร่างกฎหมายที่กำลังเป็นประเด็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากผลกระทบที่สั่งสมมานานกว่าทศวรรษ โดยรัฐบาลออสเตรเลียมองเห็นว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังครอบงำตลาดข่าวสาร จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ขององค์กรสื่อในออสเตรเลีย
นายจอร์ช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียเปิดเผยว่า กูเกิลและเฟซบุ๊กได้รายได้จากค่าโฆษณาออนไลน์ในออสเตรเลียรวมกันแล้วถึง 81% โดยกูเกิลคว้าไปที่ 53% ส่วนอีก 28% เป็นของเฟซบุ๊ก เนื่องจากกูเกิลเป็นเสิร์ชเอนจิน (search engine) ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่สุดในออสเตรเลีย
ผลการสำรวจรายงานข่าวดิจิทัลของสถาบันรอยเตอร์ 2020 พบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวออสเตรเลียระบุว่า นิยมใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยยูทูบ และเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ขณะเดียวกัน ผลวิจัยของ Similarweb หรือเว็บไซต์ด้านการวิเคราะห์ชั้นนำระบุว่า เว็บไซต์ข่าวชั้นนำของออสเตรเลีย เช่น Sydney Morning Herald, News.com.au และ The Australian ล้วนได้รับการเข้าชมเว็บไซต์ผ่านทางเฟซบุ๊กถึง 7-9%
เมื่อปี 2561 หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลออสเตรเลียได้ดำเนินการตรวจสอบถึงผลกระทบต่อการแข่งขันของสื่อและโฆษณาจากกูเกิลและเฟซบุ๊ก พบว่าเกิดความไม่สมดุลของอำนาจระหว่างแพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยีและสื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจปรับรูปแบบสนามการแข่งขันใหม่ ดังนั้น ในช่วงกลางปี 2563 รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้ออกร่างกฎหมายเพื่อเก็บค่าลิขสิทธิ์ข่าวโดยพุ่งเป้าไปที่กูเกิล และเฟซบุ๊กเป็นสำคัญ
รัฐบาลออสเตรเลียพยายามเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากเล็งเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ควรจ่ายเงินในจำนวนที่เป็นธรรมแก่สื่อท้องถิ่น ตลอดจนเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้สนับสนุนด้านการเงินที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมข่าวของออสเตรเลีย
เฟซบุ๊กกลับมา “แอดเฟรนด์” : ความขัดแย้งคลี่คลาย
“เฟซบุ๊กกลับมาเป็นเพื่อนกับออสเตรเลีย และยอมให้แชร์ข่าวของสื่อออสเตรเลียอีกครั้ง” จอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวแถลงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.พ. หลังจากเจรจากับนายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฟซบุ๊กบรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลออสเตรเลีย และยินยอมให้เพจข่าวสารของออสเตรเลียสามารถกลับมาเผยแพร่ข่าวในประเทศได้อีกครั้งในไม่กี่วันข้างหน้านี้
เฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์ว่า “หลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันแล้ว เรารู้สึกพอใจที่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตกลงที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลายประการในร่างกฎหมายฉบับใหม่ และยังรับประกันว่าจะแก้ไขข้อกังวลของเราเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการทำข้อตกลงทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการเห็นคุณค่ากับความตั้งใจในแพลตฟอร์มของเรา”
รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสันได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางอย่างในร่างกฎหมาย News Media Bargaining Code ซึ่งรวมถึงการให้เวลาเฟซบุ๊กในการตกลงเจรจากับกับบรรดาสำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะให้คณะอนุญาโตตุลาการของรัฐบาลออสเตรเลียเข้ามาเป็นตัวกลางในการตัดสิน
อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่าฝ่ายใดได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากที่สุดยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มนักวิเคราะห์ โดยริชาร์ด วินด์ซอร์ นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีอิสระจากอังกฤษมองว่า เฟซบุ๊กได้รับชัยชนะจากข้อตกลงฉบับนี้ เนื่องจากบริษัทยังสามารถปกป้องรูปแบบของแพลตฟอร์มที่สามารถเรียกการเก็บเงินค่าโฆษณาสำหรับการคลิกดูข่าวได้เหมือนเดิม
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญมองว่า ร่างกฎหมายนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แม้ว่าเฟซบุ๊กตกลงยินยอมที่จะจ่ายเงินให้แก่อุตสาหกรรมสื่อและผู้ผลิตคอนเทนต์ก็ตาม โดยราสมุส นีลเส็น หัวหน้าสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์มองว่า ข้อตกลงของเฟซบุ๊กดูเหมือนว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับสำนักข่าวรายใหญ่ของออสเตรเลีย รวมถึงนิวส์ ครอป์ แต่ยังคงต้องรอดูว่าสำนักข่าวท้องถิ่นขนาดเล็กจะได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่
แม้ว่าจนถึงขณะนี้สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างเฟซบุ๊กและออสเตรเลียได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ดูท่าว่าเฟซบุ๊กจะต้องเผชิญกับศึกหนักจากหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มจะต้องการออกมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบริษัทสื่อท้องถิ่นของตัวบ้าง ถึงเวลานั้น เฟซบุ๊กจะจัดการเช่นไร จะแข็งกร้าวเหมือนกับที่ปะทะกับออสเตรเลียหรือไม่ เราคงต้องรอดูกันต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)
Tags: Facebook, Google, กูเกิล, นิวส์ คอร์ป, พอล เฟลทเชอร์, รูเพิร์ต เมอร์ด็อก, ออสเตรเลีย, อัลฟาเบท อิงค์, เฟซบุ๊ก