นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ในหลายภูมิภาค จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสามารถขยายตัวได้
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีทั้งจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 15.2% ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 12.9% ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ 2.8% ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ 2.5% ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.1% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 9.2% ต่อปี และ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวอยู่ที่ 37.6% ต่อปี ด้วยจำนวน 1.0 พันล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากโรงงานการทำยางแผ่นรมควัน การทำยางเครป ยางแท่ง การทำยางให้เป็นรูปแบบอื่นที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสำคัญ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัว 84.8% ต่อปี ด้วยจำนวน 1.4 พันล้านบาท จากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 51.3 และ 75.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.3 และ 77.0 ตามลำดับ
- ภาคกลาง
เศราฐกิจชะลอตัวลงเล็กน้อยในด้านการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีจากเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัวลงมาอยู่ที่ -2.5% -10.1% และ -0.2% ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 14.8% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวอยู่ที่ -15.0% ต่อปี ในขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 7.0% ต่อปี อย่างไรก็ดี เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัว 334.3% ต่อปี ด้วยจำนวน 3.4 พันล้านบาท จากโรงงานตัดโลหะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ
ในด้านความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 และ 86.9 ตามลำดับ
- ภาคใต้
เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงในด้านการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 19.1% ต่อปี และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวอยู่ที่ 5.5% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีอยู่ที่ 27.7% และ 25.8% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวร้อยละ 218.8 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.1 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยขนาด 6.00 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกระบี่เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 120.0 ต่อปี ด้วยจำนวน 1.9 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 44.8 และ 82.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 46.9 และ 85.3 ตามลำดับ
- ภาคตะวันออก
ในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 52.6% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 1.5% และ 4.6% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัว 114.2% ต่อปี ด้วยจำนวน 8.1 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 50.6 และ 104.7 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 และ 107.2 ตามลำดับ
- ภาคเหนือ
ในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 7.9% ต่อปี ในขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการชะลอลงมาอยู่ที่ -23.9% และ -46.0% ต่อปี ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 49.6 และ 62.6 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.7 และ 63.0 ตามลำดับ
- กทม. และปริมณฑล
ในด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากรายได้เกษตรกร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 13.0% ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวอยู่ที่ 1.2% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอลง -11.3% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัว 247.8% ต่อปี ด้วยจำนวน 11.2 พันล้านบาท จากโรงงานประกอบรถยนต์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 46.7 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.2 และ 86.9 ตามลำดับ
- ภาคตะวันตก
เศรษฐกิจส่งสัญญาณปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยในเดือนมกราคม 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 2.3% ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 3.0% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการกลับมาขยายตัวอยู่ที่ 17.6% ต่อปี ด้วยจำนวน 0.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตซองบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติกในจังหวัดเพชรบุรีเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 และ 86.9 ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, พิสิทธิ์ พัวพันธ์, ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค, สศค., สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค, เศรษฐกิจไทย