นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่เป็น 1,539,832.78 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,394.17 ล้านบาท (จากแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลจำนวน 66,687.92 ล้านบาท และแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (หนี้ภายในประเทศ) จำนวน 7,706.25 ล้านบาท) การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท เป็น 1,403,981.17 ล้านบาท และการปรับปรุงแผนการชำระหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 505.88 ล้านบาท จากเดิม 387,354.84 ล้านบาท เป็น 387,860.72 ล้านบาท
สาระสำคัญของการปรับแผนฯ ได้แก่ การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19) จำนวน 76,239.00 ล้านบาท การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณฯ จำนวน 120,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการขยายระบบไฟฟ้าระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น รวมทั้งโครงการพัฒนาที่จะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 18 โครงการหรือรายการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้น และการชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 441.87 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยประมาณการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะอยู่ที่ 56.74% ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัดส่วนไม่เกิน 60% ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะโครงการลงทุน ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมจัดหาแหล่งเงินให้เพียงพอทั้งในภาวะปกติและภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐมีความต่อเนื่อง เพียงพอและทันการณ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 64)
Tags: ครม., งบประมาณปี 64, หนี้สาธารณะ, อนุชา บูรพชัยศรี