นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน และ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวในงานสัมมนา Reinventing Thailand ในหัวข้อ Charting Thailand’s Future ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเริ่มแรกคาดว่าจะจัดการการระบาดโรคนี้ได้เร็ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก กลไกการเชื่อมต่อเศรษฐกิจคือการเดินทางหยุดชะงัก ขณะเดียวกันทุกประเทศต้องนำเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดภาระหนี้สาธารณะจำนวนมาก และเกิดปัญหากับหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกประเทศ ขณะที่ปีนี้ยังคงเป็นการบริหารสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และโควิด-19 ยังทำให้โลกเข้าสู่ Digitalization เร็วกว่าเดิม 2-4 ปี
สำหรับประเทศไทย สามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 รอบแรกได้ดี และรอบสองก็ทำได้ดี แต่เศรษฐกิจไทยบอบช้ำเสียหายมากไม่น้อยกว่าชาติอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มบริการเป็นหลัก จึงสร้างปัญหาในกลุ่มวงกว้างเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียที่ไม่ได้พึ่งพิงภาคส่งออกมากเท่าเรา
เพราะฉะนั้นไทยต้องอาศัยการปรับโครงสร้างภายในเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ประโยนช์จาก digitalization ซึ่งกระทรวงการคลัง ก็ได้นำมาใช้และปรับปรุงให้ทันเหตการณ์ผ่านมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ภาคราชการที่อ่อนแอที่สุดในการพัฒนา digitalization ก็สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ทำให้ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่
สิ่งที่อยากเสนอด้วยการขับเคลื่อนสร้างความสามารถของชุมชนให้เข้าสู่ดิจิทัล ซึ่งภาครัฐต้องมีโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมทั้ง่ไฟฟ้าและคลื่นความถี่หรือ wifi อย่างทั่วถึงตามชุมชนทั่วประเทศ เพื่อรองรับแรงงานที่กลับสู่ท้องถิ่นมาทำอาชีพต่าง ๆ หรือค้าขาย รวมถึงขจัดอุปสรรคดิจิทัลทั้งขั้นตอนและกฎระเบียบ ส่วนการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะขับเคลื่อนได้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น
“เรามาคิดใหม่ทำใหม่ในปี 2021 ปีนี้น่าจะตั้งหลัก โดยให้เกิดรีบาวด์ในปี 2022 จากการทำงานของปีนี้ อยากให้รีบาวด์นี้เป็น Quality Growth ก็คือการเจริญและเติบโต เติบโตอย่างเดียวไม่พอ Quality Growth เป็นเทรนด์ใหม่ในโลกซึ่งสังคมเรียกร้อง บริษัททั้งหลายต้องทำ ESG เป็นเทรนด์ของโลก เราใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ในการเป็นอยู่และทำมาค้าขายได้ เทรนด์ของ Digilalization ผมว่ามาแรงมาก คือเป็น Demand from Below ดีมานด์จากเด็กจากเยาวชนต้องการ Digitalization เห็นได้จากการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างมากทั่วโลก สุดท้ายเงื่อนไขการวางแผนขับเคลื่อนไปข้างหน้า อยู่ที่ความสมานฉันท์ทางการเมืองด้วย”
นายณรงค์ชัย กล่าว
ด้านนายธณาพล อิทธินิธิภัค Vice President and Head of Thailand Business, BLACKROCK กล่าวในหัวข้อ Reinventing Thailand’s Capital market from a global perspective ว่า ในปีที่ผ่านมา โควิดให้ทำให้เรียนรู้หลายอย่าง การรับมือเศรษฐกิจและการลงทุน กระทบทุกภาคส่วนทั้งรายใหญ่ถึงรายย่อย และกระทบความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ผู้บริโภค และนโยบายการเงินการคลังที่ธนาคารกลางและทั่วโลกที่อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ อีกด้านเร่งพัฒนาวัคซีน ทั้งหมดเป็นมุมมองเชิงบวก สะท้อนในสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนมีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ
โควิด-19 เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความเสียหาย โดยตัววัคซีนจะมาควบคุมทำให้ความเสียหายจำกัด ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วหลังจากวัคซีนเริ่มแจกจ่ายแล้ว เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะกระจายในวงกว้างมากขึ้น ในสหรัฐและยุโรปมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นเป็นสัญญาณที่ดี โดยปีนี้ กลุ่มประเทศพัฒนาจะมีการสั่งซื้อครอบคุลมประชาชนส่วนใหญ่ แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนบางส่วนปีนี้ และกว่าจะครบครอบคลุมประชากรทุกคนคงเป็นปี 65-66 มองเป็นสัญญาณเชิงบวก
ในปีนี้ รูปแบบการลงทุนแบ่งเป็น 3 ธีม ได้แก่
- The New Norminal
- ธีม Globalizton Rewired และ
- ธีม Turbocharged Transformations
รูปแบบการลงทุนในธีมแรก The New Norminal อัตราดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนธุรกิจถูกลง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและเชื่อว่าจะเห็นดอกเบี้ยต่ำอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ปีนี้อัตราเงินฟ้อเริ่มดีดตัวกลับขึ้นมา รายรับต่ำแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นผลจากประเทศทั่วโลกอัดฉีดทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ส่วนยุโรปปีนี้จะมีการใช้นโยบายการคลังมากขึ้นคาด 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้มีเงินในระบบสูงมาก ผลที่ตามมาจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าเงินลดลง ฉะนั้นควรโยกไปลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนมากขึ้น โดยออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปพันธบัตรที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น (High Yield) หรือลงทุนหุ้น ธีมเทคโนโลยีและเฮลท์แคร์ ซึ่งในสหรัฐมีบริษัทเทคโนโลยี และมีอยู่ใน Asia Emerging
ธีม Globalizton Rewired ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังมีต่อไปแต่สถานการณ์ดีขึ้น โดยแนะนำลงทุนประเทศจีนที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกเติบโต Global Trade ฟื้นตัวอย่ารวดเร็ว จากจีนควบคุมโควิดได้ดี ดีมานด์ในประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจใกล้กลับสู่ปกติอีกครั้ง และมองว่าประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดีจะฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะ กลุ่ม Asia Emerging คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และจะแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 6% ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเติบโตไม่ถึง 2% ต่อปี และยิ่งมีโควิดมากระทบทำให้ส่วนต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่าในปี 2028 เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐ จากเดิมคาดว่าจะแซงได้ในปี 2030-2034
ธีม Turbocharged Transformations เทรนด์ต่างๆ เร่งตัวขึ้น เห็นได้ชัดเรื่องเทคโนโลยีที่ได้รับผลดีจากการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้น , เทรนด์ ESG หรือการเติบโตอย่างยั่งยืนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เช่นการลด โลกร้อน เพราะฉะนั้นการลงทุนในอนาคตจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้มากขึ้น บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีภาระต้องจ่ายมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไร และหันมาลงทุนอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนน้อย
นายธณาพล แนะนำลงทุน กลุ่มเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์เติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ย กลุ่มเทคโนโลยีเชื่อมต่อ 5G ซึ่งเพิ่งเริ่มจะยกระดับเทคโนโลยีทั้งหมดจะเป็นบวกในระยะยาว ขณะที่ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศ Emerging Market ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีราว 4-5% ส่วนพันธบัตรในกลุ่มประเทศ Emerging Market ในสกุลเงินท้องถิ่นก็น่าสนใจ
ส่วนที่ลดน้ำหนักการลงทุน ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลในระยะยาวไม่น่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอีกนาน แต่ระยะสั้นก็ยังถือได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 64)
Tags: MFC, REINVENTING THAILAND 2021, ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ธณาพล อิทธินิธิภัค, บลจ.เอ็มเอฟซี