นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติมอบหมายให้คณะทำงานยกร่างหนังสือส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญขอให้ฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชนให้กว้างขวางกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น
ตามที่ศาลฯ คำสั่งรับวินิจฉัยกรณีประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอ โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด โดยจะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.)
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอยากให้ช่วยจับตา 3 ประเด็นที่สำคัญมาก คือ
1. กรณีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีการตั้งขึ้นในอนาคต อาจนำไปสู่การสร้างชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะไม่ได้เป็นทางออกแท้จริง
2.ระหว่างที่มี ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปกติเราจะแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นระหว่างนี้ได้ แต่ปัญหาคือร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก กำหนดว่าหากจะแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งโอกาสในทางปฏิบัติเป็นไปยากมากที่จะสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นฉันทามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติเรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นในอนาคตสภาจะฝ่าวิกฤติไปยากมาก และ
3.กรณีที่ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วและต้องนำไปลงประชามติ หากร่างที่ออกมาประชาชนไม่เห็นด้วยต้องขีดเส้นใต้ว่าได้ หมายความว่าประชาชนจะอยากทนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อาจหมายถึง ส.ส.ร.ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นการบีบให้เราอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ไปตลอดกาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 64)
Tags: ชูศักดิ์ ศิรินิล, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, พรรคเพื่อไทย, มีชัย ฤชุพันธุ์, รังสิมันต์ โรม, รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, สมคิด เลิศไพฑูรย์, อุดม รัฐอมฤต, แก้ไขรัฐธรรมนูญ