นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พิจารณาเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาล และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนอยู่ในข่ายที่จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน
โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งมาจากนักกฎหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค เพื่อพิจารณาความผิดของรัฐมนตรีแต่ละบุคคลว่าจะยื่นในลักษณะใด โดยพิจารณาใน 2 กรณี คือ
- ความผิดทางอาญา
- ความผิดทางจริยธรรม
ส่วนการลงโทษกรณีงูเห่าของแต่ละพรรคนั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า พิจารณาดูแล้วว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.เพราะไม่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องภายในแต่ละพรรคต้องไปดำเนินการ
สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อชาติ (พช.) ปล่อยให้ ส.ส.ฟรีโหวตกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะผิดมารยาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่นั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการคุยกันในเรื่องนี้ และวันนี้พรรคเพื่อชาติก็ไม่ได้มาร่วมประชุม ซึ่งในอนาคตคงมีการคุยกัน ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องภายในที่แต่ละพรรคจะไปดูเรื่องจริยธรรมของพรรคตัวเอง
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า แต่ละพรรคมีเจ้าภาพหลักในการอภิปรายแต่รัฐมนตรีละกระทรวง ดังนั้นจะแบ่งกันรับผิดชอบเรื่องรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่ตัวเองอภิปราย ก่อนยื่นไปยังองค์กรอิสระร่วมกัน ในส่วนของเพื่อไทยมี 3 คน ที่จะถูกยื่นเรื่องแน่นอน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ
“แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบแค่นี้ รัฐมนตรีบางท่านที่อาจไม่ถูกยื่นไปยังองค์กรอิสระ จะมีมาตรการทางการเมืองในการดำเนินการกับรัฐมนตรีทั้ง 10 คน และทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ”
นายสมพงษ์กล่าว
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคจะติดตามข้อเท็จจริงมาตีแผ่ให้ประชาชนได้ทราบต่อ และจะลงพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุเพิ่มเติมว่า คนเป็นรัฐมนตรีหรือเป็น ส.ส.ต้องมีจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หาก ป.ป.ช.พิจารณาว่ารัฐมนตรีท่านใดที่ถูกอภิปรายแล้วส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลรับไว้รัฐมนตรีท่านนั้นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนๆ แม้จะได้รับการยกมือให้ผ่านความไว้วางใจในสภา แต่เมื่อส่งเรื่องไป ป.ป.ช.ก็ติดคุกติดตาราง และออกจากตำแหน่งมากันแล้วหลายคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 64)
Tags: ประเสริฐ จันทรรวงทอง, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาชาติ, พรรคฝ่ายค้าน, พรรคเพื่อไทย, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, อภิปรายไม่ไว้วางใจ