นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เชื่อว่าตลาดกระทิงมาถึงเวลาต้องลงทุน โดยหลังจากที่มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จและแจกจ่ายใช้ในหลายประเทศมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น
แม้ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นอย่างมาก แต่ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ลงทุนเริ่มสนใจย้ายไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (FIF) กันมากขึ้น และคาดว่าความสนใจจะมีต่อเนื่องไปในปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับ 2 ธีมการลงทุน ได้แก่
1) ธีม New Normal การแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในวงกว้าง เช่น การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานและการศึกษานอกสถานที่ โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่ กลุ่มเฮลธ์แคร์ (Health Care), อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และการศึกษาออนไลน์ (Edutainment) เป็นต้น และ
2) ธีมสองมหาอำนาจ สหรัฐฯและจีนต่างมีปัจจัยบวกสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯยังเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนหลากหลายสัญชาติ มีน้ำหนักสูงถึง 46% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่จีนมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ และมีการบริโภคภายในประเทศที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ทั้งนี้ สำหรับกองทุนหุ้นไทย ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Quality Growth และ High Potential for Recovery จากความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
บลจ.กสิกรไทย แนะนำให้ผู้ลงทุนก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้น โดยใช้หลักกระจายการลงทุน พร้อมเติบโตตามเทรนด์โลกในระยะยาวผ่าน 6 กองทุนแนะนำ ประกอบด้วย กองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน (K-CHANGE) กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA) และกองทุนเปิดเค ยูเอสเอ หุ้นทุน (K-USA) กองทุนผสม ได้แก่ กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม (KGINCOME) กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดเค สตาร์ หุ้นทุน (K-STAR)และกองทุนตราสารหนี้ได้แก่ กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ P024/2561 พลัส (K-FIXEDPLUS) โดยผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตการลงทุน
“ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว จากความสำเร็จในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ New Normal ทั้งการใช้ในชีวิตประจำวัน ความบันเทิง และการทำงานส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มนี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังช่วยหนุนเอเชียรวมถึงไทย โดยหากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วก็มีโอกาสที่จะได้เห็นกำไรในบริษัทจดทะเบียนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้ตลาดสามารถซื้อขายในระดับ Valuation ที่สูงได้ทั้งนี้ คาดว่า SET Index ปลายปีจะปรับขึ้นแตะ 1,600 จุด ภายใต้ความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากเห็นความชัดเจนในการแจกจ่ายวัคซีน และการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่จะสนับสนุนการส่งออกของประเทศ” นายวศิน กล่าว
นายวศิน กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 7% โดยมุ่งรักษาความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนรวม ด้วยการ 1.รักษาฐานลูกค้าเดิมผ่านการแนะนำกองทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาด 2) ขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านการเปิดเสนอขายกองทุนตามความไลฟ์ สไตล์และเทรนด์โลก 3) พัฒนาช่องทางการลงทุนดิจิตอล โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่บน App K-My Funds เพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น และ 4) นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ 1.40 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 1.04 ล้านล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.96 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 1.69 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดจำแนกตามธุรกิจอยู่ที่ 74%, 14% และ 12% ตามล ดับ โดยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม (ข้อมูลจาก AIMC ณ ธ.ค. 63)
ที่ผ่านมากระแส Digital Disruption ในอุตสาหกรรมกองทุนถือว่ามาช้ากว่าธุรกิจการเงินอื่นๆ อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ได้ปรับตัวรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยใช้ช่องทางดิจิตอลเป็นหลัก เห็นได้จากจ นวนลูกค้าที่ลงทุนผ่านช่องทางดิจิตอล(Digital-based Users) มีประมาณกว่า 74% จากจ นวนลูกค้าที่มีธุรกรรมทั้งหมดในปีที่ผ่านมา รวมเป็นมูลค่าการซื้อขายกว่า 4.40 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ได้ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าที่ลงทุนผ่านช่องทางดิจิตอลเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปี 64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, Digital disruption, New Normal, จีน, บลจ.กสิกรไทย, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, วศิน วณิชย์วรนันต์, สหรัฐ, เศรษฐกิจโลก, โควิด-19