ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรงตัวเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ทะยานขึ้นในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเข้าซื้อหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทันทีที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชะลอตัวลง
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,494.32 จุด เพิ่มขึ้น 0.98 จุด หรือ +0.0031%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,906.71 จุด ลดลง 7.26 จุด หรือ -0.19%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,874.46 จุด เพิ่มขึ้น 9.11 จุด หรือ +0.066%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 0.1%, ดัชนี S&P500 ลดลง 0.7% และดัชนี Nasdaq ลดลง 1.6%
หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดลบ นำโดยหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งลดลง 1.51% ขณะที่หุ้นบวกนำโดยกลุ่มวัสดุซึ่งเพิ่มขึ้น 1.84%
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นเดียร์ แอนด์ โค และหุ้นแคทเธอร์ พิลลาร์ ซึ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงิน, กลุ่มวัสดุ และกลุ่มพลังงาน ปรับตัวขึ้นมากกว่า 1%
หุ้นกลุ่มสายการบินในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจะหันไปให้ความสนใจกับการเดินทางเมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไป
แต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก, กูเกิล และเน็ตฟลิกซ์ ปรับตัวตามแนวโน้มขาลงที่เกิดขึ้นเกือบทั้งสัปดาห์นี้
หุ้นแอปเปิล และหุ้นแอมะซอน ปรับตัวลงด้วย เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นดังกล่าวหลังการทะยานขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว
หุ้นแอพพลายด์ แมทีเรียลส์ ปรับตัวขึ้น หลังคาดการณ์รายได้ไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นเกินคาด เนื่องจากความต้องการเครื่องมือผลิตชิปเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะขาดแคลนชิปทั่วโลก
การเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน, ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์แตะระดับสูงสุดของวันศุกร์ หลังบริษัทเดียร์ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้ และรายงานผลกำไรมากกว่า 2 เท่าในไตรมาสแรก เนื่องจากมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องจักรในการทำฟาร์มและการก่อสร้าง
ส่วนดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงในสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกในเดือนนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับมูลค่าตลาดหุ้นที่สูงขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความวิตกว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในระยะสั้น
แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปรับตัวลงมากกว่า 10% เนื่องจากตลาดมีการซื้อขายที่ค่าพีอีมากกว่า 22 เท่า ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุคภาวะฟองสบู่ดอทคอมในช่วงปลายทศวรรษ 1990
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 58.8 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 71 เดือน จากระดับ 58.7 ในเดือนม.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว ทั้งภาคการผลิตและบริการ
ด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 6.69 ล้านยูนิตในเดือนม.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 1.5% สู่ระดับ 6.61 ล้านยูนิต โดยยอดขายบ้านมือสองได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ระดับต่ำ และการขาดแคลนสต็อกบ้านในตลาด และเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านมือสองพุ่งขึ้น 23.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 64)
Tags: dowjones, Nasdaq, S&P500, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก