โบรกเกอร์ ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) บริษัทอยู่ในช่วงการเติบโตที่โดดเด่น จากยอดขายรถที่เติบโตดีโดยเฉพาะรถ EV จึงเล็งผลงานปี 64-65 เติบโตเด่น สอดคล้องคำสั่งซื้อแผงวงจรสำหรับรถยนต์ (Automotive PCB) เข้ามาจำนวนมาก และการขยายกำลังการผลิต รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่ขยายตัวจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการผลิตรถยนต์ EV ปัจจุบันความต้องการ PCB สูงสุดในรอบ 10 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
แม้บริษัทฯจะมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนราคาทองแดงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1% จะกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิ 0.15% แต่หากราคาทองแดงแผ่นเพิ่มขึ้นเกิน 13-15% จากสิ้นปีที่ 10,200 ดอลลาร์ต่อตัน บริษัทจึงจะขอเจรจากับลูกค้า แต่ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแนวโน้มจะปรับราคาขายกับลูกค้า
หุ้น KCE ปิดเช้าที่ 58.75 บาท ลดลง 1.75 บาท (-2.89%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าร่วง 9.96 จุด
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
เคทีบีเอสที | ซื้อ | 70.00 |
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี | ซื้อ | 65.00 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส | ซื้อ | 67.00 |
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อ | 67.00 |
บัวหลวง | ซื้อ | 70.00 |
ยูโอบี เคย์เฮียน | ซื้อ | 67.00 |
หยวนต้า | ซื้อ | 64.50 |
นายนภนต์ ใจแสน ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า แม้ว่าราคาหุ้น KCE จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ภาพรวมของผลประกอบการบริษัทกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของรอบการเติบโต ทำให้ล่าสุดทางฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานใหม่เป็น 70 บาทจากเดิม 47 บาท ด้วยเหตุผลจากความต้องการในตลาดแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากผู้ผลิตบางรายลดกำลังผลิตแผงวงจรพิมพ์สำหรับยานยนต์ (Automotive PCB) และหันไปเพิ่มกำลังผลิตสินค้า Consumer Electronics มากกว่า ทำให้คำสั่งซื้อทยอยเข้ามาหา KCE ทำให้บริษัทปรับประมาณการยอดขายเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 20% จากเป้าเดิม 15% สอดคล้องกับคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เข้ามาถึงไตรมาส 2/64 สะท้อนจากคำสั่งซื้อที่รอรับรู้รายได้ในปัจจุบันอยู่ที่ 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เบื้องต้นคาดว่ายอดขายในไตรมาส 1/64 จะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และกำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้ง YoY และ QoQ ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการปี 64 ของ KCE มีการปรับประมาณการกำไรปี 64 ขึ้น 9% มาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เติบโต 50% YoY สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่เข้ามารวมถึงการขยายกำลังการผลิต และอัตรากำไรขั้นต้นที่ขยายตัวจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากแผนเพิ่มกำลังการผลิต HDIs เป็น 2 เท่า เนื่องจากบริษัทมีลูกค้าใหม่ในกลุ่ม Consumer Electronics นับเป็นลูกค้ารายใหม่ที่มียอดคำสั่งซื้อติดอันดับ 1 ใน 5 ของคำสั่งซื้อลูกค้าทั้งหมด ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีหลังบริษัทตั้งเป้าสินค้า HDIs จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 20-25% จากเดิม 11% ของรายได้ทั้งหมดและขยับขึ้นเป็น 30% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งทางบริษัทวางงบลงทุนอยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.9 ล้านตารางฟุตต่อเดือนเป็น 3.6 ล้านตารางฟุตต่อเดือนภายในปีนี้ และมีกำลังการผลิตจากโรงงานใหม่ที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านตารางฟุตต่อเดือนที่พร้อมในช่วงครึ่งหลังปี 65
“แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าและต้นทุนราคาทองแดงจะสูงขึ้น แต่เมื่อเจาะงบการเงินในไตรมาส 4/63 พบว่าอัตรากำไรขั้นเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนถูกชดเชยจากกำลังการผลิตและคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และด้วยโมเมนตัมของกำไรที่จะเติบโตทุก ๆ ไตรมาสในปี 64 เป็นจังหวะที่ควรเข้าสะสมหุ้นลงทุนระยะยาว”
นายนภนต์ กล่าว
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมิน KCE แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนราคาทองแดงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิ 0.15% เนื่องจากปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแนวโน้มจะปรับราคาขายกับลูกค้า หากราคาทองแดงแผ่นเพิ่มขึ้นเกิน 13-15% จากสิ้นปีที่ 10,200 ดอลลาร์ต่อตัน บริษัทจึงจะขอเจรจากับลูกค้า และภาพรวมยอดขายปี 64 จะเติบโตมากกว่า 20% จากคำสั่งซื้อลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มยานยนต์กลับมามาก ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากการใช้กำลังการผลิตเต็มที่
นอกจากนี้ คาดปี 64 กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 10% จาก 2.9 ล้านตารางฟุตเป็น 3.2 ล้านตารางฟุต เป็นตัวแปรสนับสนุนจากการลงทุนเพิ่มเครื่องจักรในโรงงานลาดกระบัง และมีแผนสร้างโรงงานใหม่ในนิคมโรจนะ อยุธยา คาดเริ่มผลิตได้ในกลางปี 65 ที่เน้นการผลิตสินค้า HDIs มากขึ้น ทั้งนี้ กำลังการผลิตรวมของโรงงานใหม่อยู่ที่ 2 ล้านตารางฟุต จะทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 62% จาก 3.2 ล้านตารางฟุต เป็น 5.2 ล้านตารางฟุต อนึ่งการ ramp up ของโรงงานใหม่แบ่งเป็น 3 เฟส ใช้เวลารวม 1.5 ปี เริ่มเฟสแรก ไตรมาส 3/65 ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท
ส่วนบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า KCE มีการขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการผลิตรถยนต์ EV ปัจจุบันความต้องการ PCB สูงสุดในรอบ 10 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ lead time ยาวถึง 14 สัปดาห์ จากเดิมที่ 4 สัปดาห์ และในปี 2564 บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิต PCB special grade เพิ่มขึ้นอีกราว 2 เท่าจากกำลังการผลิตเดิมที่ 300,000-350,000 ตารางฟุตต่อเดือน คาดจะสามารถทยอยเปิดสายการผลิตในช่วงไตรมาส 3/64
นอกจากนี้ ปี 65 ยังมีแผนสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 2 ล้านตารางฟุตต่อเดือน คาดจะสามารถทยอยเปิดสายการผลิตได้ในครึ่งปีแรกปี 65 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตารางฟุตต่อเดือน เพื่อรองรับความต้องการ PCB ที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64-65 เพิ่มขึ้น 20% และ 57% ตามลำดับ ปรับกำไรสุทธิปี 64 ขึ้น 20% เป็น 2,225 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 97% YoY จากปรับยอดขายสกุล USD เพิ่มขึ้นเป็น 447 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% YoY จากเดิมที่ 429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการฟื้นตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ EV ขณะเดียวกันยังได้ปรับอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 27% จากเดิมที่ 25% จากการสัดส่วนรายได้ PCB special grade ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง โดยคาดจะเห็นสัดส่วนรายได้ PCB special grade อยู่ที่ 20% รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ทดแทนการใช้แรงงาน
นอกจากนี้ ปรับกำไรสุทธิปี 65 ขึ้น 57% เป็น 3,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% YoY ตามทิศทางยอดขายสกุล USD เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 536 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% YoY จากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากโรงงานแห่งใหม่ราว 20% และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากประสิทธิภาพในการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามประมาณกำไรมีอัพไซด์จากการลูกค้ารายใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้ารายใหญ่ติดอันดับ Top 5 ของบริษัท
พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ในช่วงการเติบโตที่โดดเด่น จากยอดขายรถที่เติบโตดีโดยเฉพาะรถ EV ในไตรมาส 4/63 ของเยอรมันที่เติบโตถึง 455% YoY ส่งผลให้สัดส่วนยอดผลิตรถยนต์ EV ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10.5% จากเดิม 3% ในปี 62 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนยอดขาย PCB special grade
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 64)
Tags: Consensus, EV, KCE, ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, ดีบีเอส วิคเคอร์ส, นภนต์ ใจแสน, บัวหลวง, ยูโอบี เคย์เฮียน, รถยนต์ไฟฟ้า, หยวนต้า, หุ้นไทย, เคซีอี อีเลคโทรนิคส์, เคทีบีเอสที, โนมูระ พัฒนสิน