นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) แถลงผลประกอบการของบริษัทว่า ไตรมาส 4/63 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 71,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,149 ล้านบาท หรือ 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยหลักจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่ได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในด้านสุขอนามัย การทำงานที่บ้าน และการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามต้นทุนเนื้อก๊าซฯ ที่ปรับลดลง และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลก ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แม้ปริมาณขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ ปตท.และบริษัทย่อยในไตารมาส 4/63 มีกำไรสุทธิ จำนวน 13,147 ล้านบาท ลดลง 973 ล้านบาท หรือ 6.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับผลการดำเนินงานของปี 63 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 225,672 ล้านบาท ลดลง 63,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 ในปี 62 โดยหลักจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลการดำเนินงานปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงอย่างมาก โดยหลักจากการขาดทุนของค่าการกลั่นรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันในปี 2563 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมากจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่ 67.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 63
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายที่ลดลงตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลกปรับลดลงและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19 และตามการปิดซ่อมบำรุงและปรับลดกำลังการผลิตให้เหมาะสมตามอุปสงค์ของลูกค้าในปี 63 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ กลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ในช่วงปลายไตรมาส 1/62
ขณะที่ ปตท. และบริษัทย่อยในปี 63 มีกำไรสุทธิจำนวน 37,766 ล้านบาท ลดลง 55,185 ล้านบาท หรือ 59.4% จากปี 62
“ผมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 นี้ จะกลับมาฟื้นตัวภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ไม่เร็ว ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ไม่ทั่วถึง เพราะการฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจ จะไม่เท่ากัน และยังมีความไม่แน่นอน จากสถานการณ์การควบคุมโรคและวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดย ปตท. พร้อมร่วมขับเคลื่อนด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงาน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกัน ตามกรอบแนวคิด ‘Powering Thailand’s Transformation’” นายอรรถพล กล่าว
ในส่วนของแผนวิสาหกิจ 5 ปี (64-68) กลุ่ม ปตท. เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน เพื่อลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 การขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 804,202 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตามกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อสร้างความสมดุลในการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นรูปธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 64)
Tags: PTT, ปตท., ผลประกอบการ, พลังงาน, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์