นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปี 64 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ จากปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 6,152 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนสต็อกน้ำมัน แต่ในปีนี้ภาวะตลาดน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้ไต่ระดับแตะ 60 เหรียญฯ/บาร์เรล สูงกว่าคาดการณ์ของบริษัทที่มองว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะอยู่ที่ราว 47 เหรียญฯ/บาร์เรล
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียม คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีน (เบนซิน) ปีนี้จะดีขึ้นอย่าวมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยน้ำมันดีเซลได้รับอานิสงส์จากมาตรการโควิด-19 ของภาครัฐที่ทำได้ดี โดยเฉพาะการล็อกดาวน์เพียงบางพื้นที่ ขณะเดียวกันในแง่ของซัพพลายก็จะมีการ shut down โรงกลั่นในประเทศอินเดีย ส่วนความต้องการใช้เบนซินนั้น ประเทศจีนที่ถือว่าเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในภูมิภาคก็มีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ความต้องการในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น และด้านซัพพลายก็น่าจะได้รับประโยชน์จากการ Shit down โรงกลั่นในอินเดียเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล (Spread) กับภาวะปกติของปี 62 ยังคงอยู่ภายใต้ความกดดัน เช่นเดียวกับน้ำมันเตา (HSFO) เนื่องจากโรงกลั่นของบริษัทยังอยู่ในช่วงการไต่ระดับกำลังการผลิตขึ้นมาหลังจากเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้อุปทานน้ำมันเตาจะปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ราคาน้ำมันเตาน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวหรือดีขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนตามภาพรวมความต้องการที่ยังดีต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ PP ในกลุ่มโอเลฟินส์ ยังมีความต้องการมใช้อย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศกันได้มากนัก แต่เศรษฐกิจในประเทศก็ดีขึ้นตามลำดับ และมาตรการล็อกดาวน์แค่บางพื้นที่ ทำให้การบริโภคของผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ ทั้ง PP, HDPE ได้รับอานิสงส์
รวมถึงผลิตภัณฑ์ ABS นั้น จำนวนยอดขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ปรับตัวดีขึ้น แต่ในแง่ของซัพพลายได้รับการกดดันบ้าง จากกำลังการผลิตใหม่ในโครงการผลิตปิโตรเคมี ประเทศมาเลเซีย (โครงการ PrefChem) และในครึ่งปีหลังนี้อาจจะกำลังการผลิตใหม่จากประเทศจีนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาด้วย
ขณะที่แผนการลงทุน 5 ปี (ปี 64-68) บริษัทคงงบลงทุนรวม 36,251 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) จำนวน 14,248 ล้านบาท โครงการ Strengthen จำนวน 2,370 ล้านบาท โครงการลงทุนทั่วไปและค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงโรงงาน จำนวน 11,242 ล้านบาท และอื่นๆ 8,391 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจในด้านอื่นๆ
นายชวลิต กล่าวว่า IRPC พร้อมรับมือกับความท้าทายในยุค New Normal ด้วยการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างต้นทุน รูปแบบการทำธุรกิจและวิธีการทำงานที่เข้าใจ เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น (Human centric) ด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมทั้งขยายขอบเขตการลงทุน สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและการพัฒนาธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยได้กำหนดเป้าหมายและวิธีการเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3 S ได้แก่
Strengthening the core
การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ได้แก่ แผนการลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 66
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร เช่น พัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในโรงงานเป็น Smart Operation ควบคุมและวางแผนระบบการผลิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการขายและการตลาด โดยใช้ระบบดิจิทัล (Customer Centric Digital) ที่ทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการเลือกซื้อน้ำมันดิบ วัตถุดิบ การวางแผนการผลิต และการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรสู่ระบบดิจิทัล IRPC ยังให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างต้นทุน และการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคลให้สอดรับกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
Striving the growth
ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ IRPC เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ และการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในอนาคตต่อไป
Sustaining the future
การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสามารถนำกลับไปรีไซเคิล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับลูกค้าและองค์กรต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Zero Plastic Waste) และการสร้างคุณค่าให้กับสังคม (Creating Social Value) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสร้างห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 64)
Tags: IRPC, ชวลิต ทิพพาวนิช, ไออาร์พีซี