ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับวินิจฉัยกรณีประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอ โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มี.ค. 64 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค.64
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่าในคราวประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 ที่ประชุมรัฐสภาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาและมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิฉัยตามรัฐธรามนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2661 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 64)
Tags: บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, มีชัย ฤชุพันธุ์, รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, สมคิด เลิศไพฑูรย์, อุดม รัฐอมฤต, แก้รัฐธรรมนูญ