พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีแอปพลิเคชั่น Clubhouse ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า Clubhouse เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการตั้งกลุ่มสนทนา พูดคุยแสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ผ่านเสียง ได้อย่างมีอิสระ และมีความเป็นส่วนตัว
ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บางคนพูดแสดงความเห็นในลักษณะที่อาจจะพาดพิงหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนได้รับความเสียหาย อาจมีการกล่าวข้อมูลที่บิดเบือนจนทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดหรือเกิดความสับสนวุ่นวายได้ และอาจมีมิจฉาชีพปลอม Account เป็นบุคคลอื่นและไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินจนผู้อื่นได้รับความเสียหายได้
ทั้งนี้ ในทางกฎหมาย การกระทำในลักษณะของกล่าวพาดพิงหรือละเมิดผู้อื่นนั้นอาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการกล่าวข้อมูลที่บิดเบือนอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และการปลอม Account หรือวิธีอื่นๆ เพื่อการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า บช.สอท. จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงและป้องกันการถูกหลอกลวงในรูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นได้บนแอปพลิเคชั่น Clubhouse ว่า ควรคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นเสมอก่อนจะพูดอะไรออกไป โดยให้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลต่างๆจากการสนทนาและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้ผู้อื่นทราบ
“พึงระลึกไว้เสมอว่า “ความลับไม่มีในโลก” โดยเฉพาะโลกออนไลน์ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครจะแอบอัดเสียงเราตอนไหน และสิ่งที่เราพูดอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ในภายหลัง”
พล.ต.อ.กฤษณะ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 64)
Tags: Clubhouse, กฎหมายดิจิทัล, กฤษณะ พัฒนเจริญ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, แอปพลิเคชัน