นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงรายละเอียดข้อมูลการจัดหาวัคซีนที่อาคารรัฐสภา เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการจัดหาล่าช้า การจัดซื้อไม่โปร่งใส ประเด็นการเอื้อประโยชน์เอกชน หรือซื้อในราคาแพง ที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นพ.นคร กล่าวว่า ได้มีการวางแผนจัดหาวัคซีนตั้งแต่เดือน เม.ย.63 ทั้ง 3 ช่องทาง คือ 1.การวิจัยและพัฒนาในประเทศ 2.การแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม และ 3.การติดตามงานวิจัยและพัฒนาจากผู้ผลิต
โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค.63 ได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตรา เซเนก้า กับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ที่บริษัท แอสตราเซเนกา ได้ประเมินศักยภาพแล้ว โดยบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็น 1 ใน 25 รายที่บริษัท แอสตราเซเนก้า คัดเลือกจากผู้ที่เสนอตัวเป็นฐานการผลิตถึง 60 ราย การจองซื้อวัคซีนครั้งนี้จึงมีความแตกต่างไปจากปกติ เพราะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย โดยมีเงื่อนไขที่จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาค
“การจัดซื้อวัคซีนครั้งนี้มีคณะกรรมการตรวจสอบหลายชุด โปร่งใส ไม่ได้มีการปกปิด”
นพ.นคร กล่าว
โดยเงินที่ใช้จองวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา จะรวมค่าวัคซีนไปด้วย ขณะที่เงินจองวัคซีนกับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก จะเป็นเฉพาะค่าบริหารจัดการเท่านั้น ยังไม่รวมค่าวัคซีน อีกทั้งวัคซีนส่วนใหญ่เป็นของบริษัท แอสตราเซเนกา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ไทยต้องเข้าไปร่วมโครงการนี้ให้ซ้ำซ้อน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้หลากหลายผู้ผลิต ขอแค่ให้ได้วัคซีนมาใช้งานเท่านั้น ส่วนกรณีมีข่าวไทยปฏิเสธซื้อวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา จากบริษัทอินเดียนั้นเป็นข่าวเท็จ แต่เป็นการเสนอความร่วมมือทำงานวิจัยกับผู้ผลิตวัคซีนอีกราย
ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า เป้าหมายการใช้วัคซีนคือ ลดอัตราการป่วยและการตาย รักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุข สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าไว้ 10 ล้านโดส/เดือน โดยจะเริ่มฉีดกลุ่มแรกให้กลุ่มเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยง/อาชีพเสี่ยง ในเดือน ก.พ.-เม.ย.64 หลังจากนั้นเมื่อมีวัคซีนเพียงพอจะเริ่มฉีดในเดือน มิ.ย.64 ซึ่งได้มีการซักซ้อมการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการติดตามผลข้างเคียงทุกขั้นตอนหลังฉีดแล้วต่อเนื่องไปเป็นระยะ 1 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจะได้รับเงินชดเชยหากเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้งานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประเทศ ซึ่งมุ่งดูแลทั้งเรื่องสุขภาพและระบบเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยจะเร่งดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศเร็วที่สุดจำนวน 63 ล้านโดสภายในปีนี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะสามารถควบคุมสถานการณ์โรคได้ดีแล้วแต่เราต้องการนำวัคซีนมาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 64)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, นคร เปรมศรี, ฝ่ายค้าน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โอภาส การย์กวินพงศ์