ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ที่คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ จึงควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว อีกทั้งสภาพคล่องในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับสูง แต่โจทย์สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนให้ทั่วถึง จึงควรใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิผลสูงสุด”
รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ผ่านการผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันของไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออก และทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป และเห็นควรให้เร่งดำเนินมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพและขาดสภาพคล่อง ผ่านมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต และอาจพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน สถาบันการเงินควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง มาตรการการคลังควรเร่งออกเพิ่มขึ้นและตรงจุด เพื่อเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ
“ในระยะต่อไป ควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมกันผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังโควิด-19 โดยเฉพาะการยกระดับทักษะแรงงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยั่งยืนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว”
รายงานกนง. ระบุ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ความเปราะบางในตลาดแรงงาน การจัดหาและการกระจายวัคซีน การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความเพียงพอของมาตรการภาครัฐในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
คณะกรรมการฯ ยังได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินไทยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่รุนแรงเท่าเดิม เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดน้อยลง รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือได้เร็วและตรงจุด ประกอบกับการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจาก 1.รระบาดขอโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม การบริโภคภาคเอกชนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากรายได้แรงงานที่ลดลงและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ที่ปรับลดลงตามนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป 3.รายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 ที่มีแนวโน้มน้อยลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยบวกที่ช่วยชดเชยผลลบได้บางส่วน จาก 1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 2. การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดในเกือบทุกหมวดสินค้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ 3.การเลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณบางส่วนจากเดิมในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มาเป็นในช่วงปี 2564
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และมาตรการการคลังในการพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะปานกลางขึ้นอยู่กับ 1.การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.การจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 3.ความเพียงพอและต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และ 4.ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น หลังการระบาดระลอกใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 64)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดอกเบี้ยนโยบาย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., สภาพคล่อง, เศรษฐกิจไทย