นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายดิจิทัล ให้ความเห็นถึงแอปพลิเคชัน Clubhouse ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ดีที่เปิดโอกาสให้คนสื่อสารกันด้วยเสียงระหว่างกลุ่มคน
แต่มีประเด็นที่ต้องระวัง คือ ความเป็นส่วนตัว กับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งที่น่ากังวลคือ Clubhouse ต้องมีการยืนยันตัวตนในการใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง การใส่ชื่อนามสกุลจริงจึงเป็นจุดขายของ Club House ดังนั้นสิ่งที่ Clubhouse เก็บข้อมูลไว้คือ หมายเลขโทรศัพท์ ชื่อ-นามสกุล พฤติกรรมการใช้งาน
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบ Clubhouse พัฒนาโดยบริษัท อัลฟ่าเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา Twitter ดังนั้นสิ่งที่ผู้พัฒนาแอปฯ อยากได้น่าจะตรงกันคือ Data Analytics การที่ Clubhouse ยืนยันตัวตนได้ ดังนั้นข้อมูลที่นำไปโพสต์อาจจะมีปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลได้ ล่าสุดในประเทศเยอรมนี สมาคมผู้บริโภค ได้ฟ้อง Clubhouse เพราะมีการนำเอาข้อมูลไปขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการตลาด
นอกจากนี้ Clubhouse เป็นการคุยกันในกลุ่มปิด ต้องระวังการเอาไปใช้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การค้าประเวณีจึงต้องระมัดระวัง ถึงแอปฯ จะอัดเสียงไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่อาจบันทึกการสนทนาโดยใช้อุปกรณ์อัดเสียงอื่นได้ การแสดงความคิดเห็น การพูดลงไปในแอปพลิเคชั่นจึงต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ อาจมีการสร้าง Shadow Profile การติดต่อจึงต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง การหลอกลวงยังสามารถเกิดขึ้นได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ และเจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตาม การใช้งานของแอปพลิเคชัน Clubhouse หลังพบว่ามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้เริ่มเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชัน Clubhouse อย่างแพร่หลาย และมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มต่าง ๆ ได้ใช้แอปพลิเคชันนี้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือน สร้างความเสียหาย และอาจนำไปสู่การกระทำความผิดกฎหมายได้
พร้อมกันนี้ ฝากเตือนไปยังผู้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวว่า หากไม่ระมัดระวังใช้ในทางที่ผิด เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่น สร้างความเสียหาย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที เช่นเดียวกับที่ได้ติดตามตรวจสอบการใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 64)
Tags: Clubhouse, Data Analytics, Twitter, กฎหมายดิจิทัล, ดีอีเอส, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, อัลฟ่าเจนเนอเรชั่น, แอปพลิเคชัน, ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ