นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีที่มีนักวิชาการระบุว่าในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้จะมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอีก 4 ครั้ง จึงได้ขอความร่วมมือไปยังประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อควบคุมค่าความเค็มให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทาน การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดย กทม.จะสนับสนุนการผลักดันลิ่มน้ำเค็ม (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation) หรือการระบายน้ำเพื่อช่วยกันมวลน้ำเค็มไม่ให้รุกสูงขึ้นมาในลำน้ำเจ้าพระยาจนส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตน้ำประปา รวมถึงใช้สถานีสูบน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำในแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาป้องกันปัญหาน้ำเค็มจากแม่น้ำรุกเข้ามาในพื้นที่ ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบค่าความเค็มเป็นประจำทุกวัน หากช่วงใดมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานและอาจมีผลกระทบต่อการทำการเกษตร หรือสัตว์น้ำในพื้นที่จะควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ลดการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไหลเวียน และใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครรวมกับน้ำในพื้นที่ เพื่อเจือจางความเค็ม โดยอาศัยระบบอาคารบังคับน้ำต่างๆ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ
ด้าน นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมได้เตรียมแผนรองรับพร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดเตรียมยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกน้ำประปา รถบรรทุกถังน้ำสแตนเลส เพื่อติดตั้งและให้บริการน้ำประปาสำหรับการอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำเค็มและปัญหาภัยแล้งตามที่สำนักงานเขตขอรับการสนับสนุน นอกจากนี้ยังได้รณรงค์ขอความร่วมมือหน่วยงานให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางลดปริมาณการใช้น้ำของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง เช่น ตรวจสอบอุปกรณ์ต่อน้ำประปาไม่ให้รั่วซึม ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะใช้งาน การล้างทำความสะอาดรถราชการให้ใช้ถังรองรับน้ำแทนการฉีดล้างจากสายยางโดยตรง ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากโรงงานบำบัดน้ำเสียล้างทำความสะอาดตลาด ถนน ทางเท้า รดน้ำต้นไม้ และฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดการสะสมของปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในสวนสาธารณะ รวมถึงใช้น้ำจากการบำบัดในระบบชักโครก เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: กรุงเทพมหานคร, ค่าความเค็ม, ณรงค์ เรืองศรี, ทรัพยากรน้ำ, น้ำเค็ม, วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์, สิ่งแวดล้อม