นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 และต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ.2563-2565)
โดยมีเป้าหมายที่การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ภายในปี พ.ศ.2565 ได้แก่
- (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
- (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
- (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
- (4) หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น (ในปีฐาน พ.ศ.2562 รวมการใช้พลาสติก 3 ประเภทอยู่ที่ 384,024 ตัน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว)
รวมถึงการนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่า 50% ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่
- (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)
- (2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)
- (3) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)
- (4) ฝาขวด
- (5) แก้วพลาสติก
- (6) ถาด/กล่องอาหาร
- (7) ช้อน/ส้อม/มีด (ในปีฐาน พ.ศ.2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ 50% หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน)
ทั้งนี้ คาดว่า การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติกได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: ขยะ, ขยะพลาสติก, ครม., พลาสติก, สิ่งแวดล้อม, อนุชา บูรพชัยศรี