โบรกเกอร์ ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เล็งผลดำเนินงานปี 64 ดูดีขึ้น จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการตั้งสำรองฯต่ำกว่าคาด โดย BBL น่าจะตั้งสำรองในปีนี้ประมาณ 22,000 ล้านบาท ขณะที่ Loan Growth ราว 3-4%, NIM ปรับตัวลงต่อมาอยู่ที่ 2.1% จากปีก่อน 2.2% ขณะที่ NPL ยังคงปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.5%
BBL ยังมี upside หลัก ๆ มีข้อดีคือ Valuation ถูก หรือมี P/BV เพียง 0.5 เท่า หากเทียบกับกลุ่มแบงก์ รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) ดีกว่าแบงก์อื่น ถือเป็นจุดเด่น จากพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่ (Corporate)
หุ้น BBL ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 125.50 บาท ลดลง 0.50 บาท(-0.40%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าพุ่ง 20.17 จุด
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
กสิกรไทย | ซื้อ | 157.00 |
เคจีไอ | ซื้อ | 156.00 |
เคทีบีเอสที | ซื้อ | 150.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 150.00 |
ทรีนีตี้ | ซื้อ | 151.00 |
ฟิลลิป | ซื้อ | 131.00 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง | ซื้อ | 160.00 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | ซื้อ | 151.00 |
หยวนต้า | ซื้อ | 150.00 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 142.50 |
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า BBL ในปี 64 คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดูดีกว่าที่ประเมินไว้ จาก 2 ส่วนหลัก คือ
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่าคาด เดิมคาดว่าค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเทียบกับรายได้ 58% แต่ BBL คาดว่าน่าจะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ราว 50% ต้น ๆ
- การตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาด โดย BBL คาดจะตั้งสำรองในปีนี้ประมาณ 22,000 ล้านบาท จากผลกระทบที่ลดลง ซึ่งเดิมได้ประเมินไว้ที่ 23,700 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับผลกำไรปีนี้ขึ้น 25% มาที่ 2.67 หมื่นล้านบาท และปีหน้าขึ้น 14% มาที่ 2.94 หมื่นล้านบาท
ส่วนประมาณการอื่น ๆ ที่ BBL ทำไว้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิเคราะห์ทำไว้ โดยมอง Loan Growth 3-4%, NIM ปรับตัวลงต่อมาอยู่ที่ 2.1% จากปีก่อนที่อยู่ 2.2% ขณะที่ NPL ยังคงปรับตัวขึ้นราว 0.5% มาอยู่ที่ 4.5%
ทั้งนี้ การประมาณการของ BBL ถือว่าเป็นไปตามหุ้นธนาคารพาณิชย์ตัวอื่น อย่าง Loan Growth ก็มอง 3-4% หรือ 3-5% จากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจที่ให้กรอบใกล้เคียงกันที่ราว 2% แต่การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ของ BBL ถือว่าสูงกว่าแบงก์อื่น ที่อยู่ราว 45-49% ส่วนคุณภาพสินทรัพย์จะคล้าย ๆ กัน ซึ่งทุกแบงก์มองว่า NPL ยังเพิ่มขึ้นอยู่แต่ไม่มากนักหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีก่อน และลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้ถึง 70-80%
“BBL ยังมี upside หลัก ๆ มีข้อดีคือ Valuation ที่ถูก หรือมี P/BV เพียง 0.5 เท่า หากเทียบกับกลุ่ม และแผนการเติบโตในระยะกลางไม่ได้ Aggressive เท่าแบงก์ขนาดใหญ่แบงก์อื่น เช่น SCB เป็นต้น รวมถึง Asset Quality ดีกว่าแบงก์อื่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ BBL จากพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่ (Corporate) ถึง 60% เมื่อเทียบกับแบงก์อื่นที่อยู่ราว 36-37% เท่านั้น”
นายกรกช กล่าว
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้ปรับประมาณการกำไร (EPS) ปี 64-65 เพิ่ม 5-7% จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและต้นทุนเครดิตปี 64 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก BBL บันทึกตั้งสำรองล่วงหน้า และค่าใช้จ่ายการรวมธนาคารครั้งเดียว 4 พันล้านบาทในปี 63 จึงปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการดังกล่าว เพื่อสะท้อนเป้าหมายทางการเงินใหม่ คาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 61% และ 16% ในปีนี้และปีหน้า
ขณะที่หุ้น BBL ซื้อขายที่ P/BV 0.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 2SD ความเสี่ยงที่สำคัญคือ NIM ต่ำกว่าคาดและการเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์
ส่วน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เป้าหมายปี 64 ของ BBL เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาด โดยรายได้จะถูกกดดันจาก NIM ที่ลดลง และการเติบโตของ non-NII ที่ต่ำ, ด้าน Credit Cost ที่ลดลงจะเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัว และด้วย BBL เป็นหุ้นที่มีการตั้งสำรองสูง ทำให้มองว่าการลดลงของ Credit Cost เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ประเด็นที่ต่างจากที่คาดคือ NIM และการตั้งสำรอง โดยผู้บริหารคาดว่า NIM จะลดลงในช่วงที่มีดอกเบี้ยต่ำเช่นเดียวกับที่คาดไว้ แต่ปริมาณการลดลงสูงกว่าคาด ในขณะที่การตั้งสำรองคาดไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท รวม Permata และการระบาดรอบ 2 แต่ BBL ไม่มีการเผยตัวเลขของสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือ แต่กล่าวว่าน้อยกว่ากลุ่ม (สูงสุดที่ 40%) เนื่องจากลูกค้าธนาคารเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก และมีเพียง 1% ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งดีกว่าธนาคารอื่นประกอบกับการตั้งสำรองที่สูงทำให้สามารถปรับลดการตั้งสำรองลงในอนาคตได้หากสถานการณ์ดีขึ้น
ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการโดยปรับลด Credit Cost ลง 8bps เป็น 92 bps สำหรับปีนี้ พร้อมทั้งปรับ NIM ลง 11bps เป็น 2.1% และปรับลดรายได้ค่าธรรมเนียมลงเป็น 3% ทำให้โดยรวมแล้วผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 0.3%, 0.7%, 1.1% สำหรับช่วงปี 64-66 ตามลำดับ และด้วยการตั้งสำรองสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: BBL, กรกช เสวตร์ครุตมัต, กสิกรไทย, ทรีนีตี้, ทิสโก้, ธนาคารกรุงเทพ, ฟิลลิป, หยวนต้า, หุ้นไทย, เคจีไอ, เคทีบีเอสที, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง, เอเชีย เวลท์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์