นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวมขณะนี้เบิกจ่ายได้แล้ว 55% เป็นการใช้เงินกู้ในส่วนของการเยียวยา ครบวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปได้ 30% ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการคนละครึ่ง ขณะที่โครงการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 10% เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีสภาพัฒน์เป็นประธานจะติดตามการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงาน ภายในเดือน มี.ค.นี้ หากพบว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอไว้ ก็จะดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาไว้ส่วนกลาง เพื่อจะนำไปใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟู ต้องอนุมัติภายใน เดือนก.ย. และเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564
“ส่วนใหญ่มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้มีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไป เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อนุมัติ 9,000 ล้านบาท ก็ทำได้ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ดึงกลับมา, โครงการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 2.6 แสนราย ก็จ้างได้แค่ 1 หมื่นคน ก็ต้องตัดกลับมาดูใหม่ หรือกรณีเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ส่งผลให้มีกว่า 200 โครงการทำไม่ทัน เสนอแผนปรับใช้เงินกู้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกลั่นกรองเร่งทยอยแก้ไข และเบิกจ่ายได้ไปเกือบหมดแล้ว”
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า งบประมาณที่ถูกดึงกลับมานี้ คณะกรรมการจะนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสม เช่น กรณีข้อเสนอภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต้องการให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
“ต้องดำเนินการให้รอบคอบ ดูกลไกให้รอบคอบ จะได้ไม่เกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม มีการทุจริต เช่น กรณีคนละครึ่ง ที่แม้ว่าทุกอย่างจะทำภายในระบบแอปพลิเคชั่น แต่ก็ยังสามารถโกงกันได้”
นายดนุชา กล่าว
โดยขณะนี้วงเงินใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกแค่ 2 แสนล้านบาทในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟู ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้จะพิจารณาเห็นชอบ มาตรการ ม33 เรารักกัน จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 โดยเสนอขอใช้งบ 3.7 หมื่นล้านบาทในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นการโยกงบจากแผนฟื้นฟูมาใช้ในการเยียวยา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: ดนุชา พิชยนันท์, พ.ร.ก.กู้เงิน, ม.33 เรารักกัน, สภาพัฒน์, สศช., เยียวยาโควิด, เศรษฐกิจไทย