ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 143 ราย ในปท.64-ตรวจเชิงรุก 68-ตปท.11,ตาย 2

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 24,714 คน (+143)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 64 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 68 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 11 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 22,883 คน (+772)
  • เสียชีวิตสะสม 82 คน (+2)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 64 ราย โดยมาจากสมุทรสาคร 53 ราย นครปฐม 8 ราย ชลบุรี 2 ราย และกรุงเทพฯ 1 ราย, จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 68 ราย โดยมาจากปทุมธานี 50 ราย สมุทรสาคร 16 ราย เพชรบุรีและกรุงเทพฯ จังหวัดละ 1 ราย, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย โดยมาจากสหราชอาณาจักร 5 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย อียิปต์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 24,714 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 8,077 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 13,990 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,647 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 22,883 ราย เพิ่มขึ้น 772 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ยอดสะสมเสียชีวิตเพิ่มเป็น 82 ราย โดยในรอบสัปดาห์นี้พบผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัด

สำหรับผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชาย อายุ 62 ปี อาชีพค้าขายผักที่ จ.อุบลราชธานี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง เริ่มไอแห้งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. และต่อมาวันที่ 8 ม.ค.อาการทรุด ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น หายใจหอบเหนื่อย ผลเอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง จากนั้นผลตรวจพบติดเชื้อโควิด ช่วงวันที่ 10-13 ก.พ.อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในวันที่ 14 ก.พ.

อีกรายเป็นชายชาวสมุทรสาคร อายุ 78 ปี เป็นพ่อบ้าน ส่วนใหญ่อยู่กับบ้านไม่ได้ไปไหน วันที่ 16-17 ม.ค.ลูกสาวที่มีผลยืนยันเป็นโควิด-19 ก่อนหน้านี้เดินทางมาเยี่ยมที่บ้านและรับประทานอาหารร่วมกัน วันที่ 19-20 ม.ค.เริ่มมีอาการไอแห้ง เจ็บคอ ต่อมาวันที่ 22 ม.ค.ไอมากขึ้น จึงไป รพ.ตรวจพบเชื้อ และเอ็กซเรย์ปอดอักเสบรุนแรง วันที่ 30 ม.ค.เหนื่อยหอบมากขึ้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ติดเชื้อในกระแสเลือด วันที่ 7 ก.พ.อาการแย่ลง มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตลดลง การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และเสียชีวิตในวันที่ 13 ก.พ.

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ยังมี 15 จังหวัดที่ต้องจับตาดูอย่างกระชั้นชิด พื้นที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และตาก ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังต้องติดตามใกล้ชิดกรณีที่เชื่อมโยงกับหอพักจุฬาฯ ซึ่งมีผู้สัมผัสเสี่ยงที่ผ่านการคัดกรองไปแล้ว 862 ราย พบผู้ติดเชื้อ 20 ราย ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงมีการคัดกรองอีก 343 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ยังรอผลตรวจอีกประมาณ 100 ราย

ขณะที่จังหวัดปทุมธานีพบการติดเชื้อครั้งแรกในช่วง 4-13 ม.ค.64 เชื่อมโยงมาจากจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีการคัดกรอง 3,432 ราย พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย หลังจากนั้นตลาดกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 16 ม.ค.64 จนกระทั่งวันที่ 30 ม.ค.64 พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงชาวเมียนมามีอาการจมูกไม่ได้กลิน ลิ้นไม่รับรส และเข้ารับการตรวจเมื่อวันที่ 6 ก.พ.64 และรู้ผลว่าติดเชื้อในวันที่ 7 ก.พ.64 ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันตรวจคัดกรองในตลาดพรพัฒน์ 1,333 ราย พบผู้ติดเชื้อ 175 ราย หรือคิดเป็น 13.13% และจากการสอบสวนโรคพบผู้ติดเชื้ออยู่บริเวณกลางตลาด ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าถึงแม้ตลาดจะตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง แต่มีเพดานเตี้ย อากาศไม่ค่อยถ่ายเท ช่วงที่อากาศร้อนคนจะไม่ค่อยสวมหน้ากาก โดยพบการแพร่เชื้อไปยังจังหวัดเพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ นครนายก สระบุรี อ่างทอง แพร่ และนครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีความหละหลวมในเรื่องการระบุตัวตนของแม่ค้าที่เดินทางไปค้าขายในหลายจังหวัด

ส่วนในจังหวัดตากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นพยาบาล คาดว่าติดเชื้อมาจากผู้สูงอายุรายหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.64 และจากการสอบสวนโรคพบว่ามีคนในครอบครัวติดเชื้อ 10 ราย ซึ่งได้คัดกรองเชิงรุกเชื่อมโยงไปยังตลาดศรีมอย พบผู้ติดเชื้อ 37 ราย ชุมชนอันซอรพบผู้ติดเชื้อ 21 ราย สถานที่เลี้ยงไก่ พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย คลังรถจักรยานพบผู้ติดเชื้อ 39 ราย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ศบค.เป็นห่วงใยความรู้สึกของผู้ป่วยติดเชื้อที่เปิดเผยไทม์ไลน์ ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในวงจำกัด โดยขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 109,387,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,411,436 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 28,261,470 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,916,172 ราย อันดับสาม บราซิล 9,834,513 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,071,883 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 4,038,078 ราย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์ในยุโรปอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 114

“สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง โดยวันนี้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 64,297 ราย ต่ำสุดเท่าที่เคยมีการรายงานกันมา”

พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนให้กับจังหวัดท่องเที่ยวว่า จะอยู่ในระยะที่ 2 แน่นอน หลังจากในระยะแรกจะเป็นการฉีดให้กับบุคลาก่อนทางการแพทย์ และพื้นที่เสี่ยงระบาดรุนแรงก่อน เนื่องจากระยะแรกยังมีปริมาณจำกัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top