สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 64 เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และภัยแล้ง
ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ, การกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63
ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.0% และ 5.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดิม มีสาเหตุหลักจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศตั้งแต่ปลายปี 63 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกในปีนี้ ขณะที่ปัจจัยทางการเมือง เชื่อว่าไม่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก เพียงแต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“การรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันในปีนี้จะต้องมีการรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้นหลังสถานกาครณ์โควิดคลี่คลาย และหันมาใช้สินค้าไทยมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการสินค้าในภาคการผลิตให้มากขึ้น” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว
สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 64 มองว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้
1.การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ โดยการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมและทั่วถึงเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็ว และจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และการรักษาความต่อเนื่องของการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการสาธารณสุข
2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ 3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มเติม 4. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 5. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ
6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 61-63 ให้เกิดการลงทุนจริง 7. การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8. การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการดูแลรายได้เกษตรกร 9. การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้จากในปี 63 ที่หดตัว -6.1% ก็ตาม แต่จากประมาณการที่คาดไว้ที่เติบโต 2.5-3.5% นี้ ยังอยู่บนฐานของความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบใหม่ และมองว่าระดับการเติบโตดังกล่าวยังไม่เข้าสู่ระดับการเติบโตแบบมีศักยภาพ
สำหรับแนวทางการเยียวยาของภาครัฐต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจจากผลกระทบของไวรัสโควิดนั้น มาตรการช่วงแรกจะเน้นในเรื่องของการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพเป็นสำคัญ แต่มาตรการระยะถัดไปจะเน้นในเรื่องของการรักษารับการจ้างงาน และการเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของสภาพัฒน์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: Infographic, จีดีพี, ดนุชา พิชยนันท์, สภาพัฒน์, เศรษฐกิจไทย