“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (15-19 ก.พ.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (8-11 ก.พ.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,508.35 จุด เพิ่มขึ้น 0.78% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นการตอบรับกับแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่อย่าง บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายเป็นวันแรก (11 ก.พ.) และสามารถทำราคาปิดไปที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.50% เมื่อเทียบกับราคาจองซื้อ IPO ที่ 18 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยความไม่แน่นอน สะท้อนจากความเห็นของนักวิเคราะห์หลายค่ายต่างคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯไว้ค่อนข้างกว้าง ส่วนหนึ่งเกิดการคาดการณ์ผลกระทบแรงเหวี่ยงของราคาหุ้นโออาร์ (OR) ที่แม้ว่าจะมีโมเมนตัมเชิงบวกจากการทำราคาปิดสูงสุดในรอบวัน แต่ด้วยราคาหุ้นโออาร์ (OR) บนกระดานซื้อขายได้ปรับตัวสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ได้จัดทำไว้ในประมาณการ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณเตือนถึงแรงขายทำกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นสัปดาห์นี้ ภายหลังจากสิ้นสุดข่าวเชิงบวกระยะสั้นกรณีที่หุ้น OR เตรียมเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ด้วยเงื่อนไขแบบ Fast Track ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ เป็นเงื่อนไขพิเศษสำหรับหุ้นจดทะเบียนใหม่ที่มีขนาดใหญ่ จะสามารถถูกเข้าคำนวณเพิ่มในดัชนี SET50 ระหว่างรอบได้ เป็นที่มาของการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินของผู้ลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในหุ้น OR เพิ่มอีกมูลค่า 1,535 ล้านบาท ดังนั้นผู้ลงทุนที่เข้าไปเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้น OR คงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในสัปดาห์นี้
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น OR ที่จะเริ่มมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์นี้แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าจับตาคือการรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ของทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการช่วงเช้าวันที่ 15 ก.พ.นี้รวมถึงการทบทวนคาดการณ์ตัวเลข GDP ของปี 2564 ว่าจะสะท้อนผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกสองอย่างไร ฝ่ายวิจัยโนมูระฯประเมิน GDP ไตรมาส 4/63 คาด -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2563 หดตัว -6.5% ส่วนในปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 2.8% ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นมีผลประกอบการที่ดี SCGP ,SAWAD ,VNT ,XO และปันผลสูง SPALI เป็นต้น
“หุ้น OR เข้าเทรดวันแรก แม้ว่าจะให้รีเทิร์นค่อนข้างดี แต่หากราคาวันแรกค่อนข้างสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ให้ไว้มากพอสมควร ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหุ้น OR ระยะสั้นก็คือการเข้าคำนวณในดัชนีฯต่างๆ และหากหมดสตอรี่การนำเข้าคำนวณในดัชนีฯต่างๆแล้วหลังจากนั้นราคาหุ้น OR ก็จะเริ่มกลับเข้าการเคลื่อนไหวตามทิศทางผลประกอบการเป็นหลัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแรงขายกดดันราคาหุ้น OR กลับมาอ่อนตัวได้เช่นกัน แนะนำผู้ที่เข้าไปเก็งกำไรช่วงสั้นๆก็ต้องใช้ความระมัดระวังด้วย”
นายกรภัทร กล่าว
ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้ (15-19 ก.พ.) จะอยู่ที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯแนะติดตามปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/63 และปัจจัยทางการเมืองของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค. นอกจากนี้รอติดตามบันทึกการประชุมเฟด (26-27 ม.ค.) GDP ไตรมาส 4 ของปี 2563 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ก.พ.ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)
Tags: กรภัทร วรเชษฐ์, ตลาดหุ้น, หุ้นโออาร์, หุ้นไทย