ก.ล.ต.คาดแก้ กม.หลักทรัพย์ฯ ชัดเจน Q3/64 เพิ่มอำนาจ-สร้างการแข่งขันในตลาดทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ยังคงเดินหน้าการแก้ไขเกณฑ์ต่างๆ ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ เพื่อทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคในอดีตต่อการตลาดทุนลดลง

เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น และการปกป้องดูแลผู้ลงทุนในตลาด ซึ่งการแก้ไขเกณฑ์ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/64 โดยก.ล.ต.จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการของก.ล.ต.ก่อนยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

โดยมีเกณฑ์หนึ่งที่ก.ล.ต.พิจาณาการแก้ไขเพื่อทำให้ก.ล.ต.มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเพิ่มอำนาจสอบสวนผู้กระทำผิดกฎการลงทุน โดยเฉพาะในคดีที่มีผลกระทบต่อตลาดทุนในวงกว้าง ทำให้ก.ล.ต.มีอำนาจในการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการสอบสวนได้เอง จากเดิมที่ก.ล.ต.ทำได้เพียงส่งข้อมูลให้หน่วยงานอื่นๆไปสอบสวนผู้กระทำผิดเท่านั้น

ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ยังมองโอกาสในการเร่งให้เกิดการระดมทุนในเหรียญโทเคนที่มีสินทรัพย์อ้างอิงลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการเพิ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงลดลง และช่วยลดความผันผวนในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลงมา พร้อมกับดึงดูดผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์อยู่เข้ามาในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

“การปรับปรับปรุงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อเป็นการลดอุปสรรคต่างๆในการเข้าถึงตลาดทุน เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นในตลาดเข้ามามากขึ้น มีทางเลือกในการลงทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ตลาดทุนไทยพัฒนามากขึ้น และสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องคุ้มครองนักลงทุนให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ เหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ ป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกับกำดูแล (Regulary Arbitrage) ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนได้”

นางสาวรื่นวดี กล่าว

นางสาวรื่นวดี ยังเปิดเผยว่า ก.ล.ต.จะเดินหน้าขับเคลื่อน 8 แผนยุทธศาสตร์ปี 64-66 ตอบโจทย์ 5 เป้าหมาย ฟื้นฟูและเข้มแข็ง ยั่งยืน เข้าถึง แข่งได้และเชื่อมโยง เชื่อถือได้ ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกมิติกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาตลาดทุน และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งสอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (megatrends) โดยรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยต่อไป

แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 64-66 คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ อันนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยและหน่วยงานกำกับดูแล โดยกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญทั้ง 2 ประเด็น

ได้แก่ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ (recovery & strengthening) และประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (resilience)

แผนยุทธศาสตร์จะยังคง 4 เป้าหมายและ 7 ยุทธศาสตร์สำคัญจากแผนยุทธศาสตร์ ปี 63-65 โดยได้เพิ่มเป้าหมาย ฟื้นฟูและเข้มแข็ง และเพิ่มยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ เพื่อให้ตลาดทุนมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 รวมเป็น 5 เป้าหมาย 8 ยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้

(1) การสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable capital market)

(2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทางการเงินในระยะยาว มีการออมและการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ (Financial well-being)

(3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs & startups growth and financing)

(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling regulatory framework & connectivity)

(5) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market)

(6) เพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective supervision & enforcement)

(7) ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk)

(8) สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 (Supporting liquidity) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ

พร้อมกันนั้นวันนี้ยังมีการมอบรางวัลภายใต้โครงการ ASEAN Corporate Governance Scorecard ให้แก่บริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งประเมินโดยใช้ข้อมูลปี 61 ที่มอบให้กับบริษัทจดทะเบียนในอาเซียน 6 ประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือและการสนับสนุนจาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งเป็นรากฐานที่นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ยสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

(1) รางวัล ASEAN Asset Class PLCs สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทย 42 บริษัท จากทั้งหมด 135 บริษัท ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน

(2) รางวัล ASEAN Top 20 PLCs สำหรับบริษัทที่มีคะแนนติดอันดับสูงสุด 20 อันดับแรกของอาเซียน โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทย 4 บริษัทได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)

และ (3) รางวัล Country Top 3 PLCs มอบให้บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top