คลัง สั่ง ก.ล.ต.คุมเข้มบิทคอยน์คุ้มครองผู้ลงทุนรับความเสี่ยงสูง, ย้ำศก.ไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2564” ในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ว่า ในปี 2564 ต้องการให้ตลาดทุนมีบทบาท 5 เรื่อง คือ

  1. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างเครื่องมือในการลงทุนใหม่ให้ตลาดทุน พร้อมทั้งดูแลนักลงทุน ผู้ออมเงิน ที่มีความรู้ไม่มาก เช่น การลงทุนบิตคอยน์ที่ต้องดูแลให้ดี ซึ่งกลุ่มผู้มีเงินน้อยแต่ต้องการผลตอบแทนสูงก็มีความเสี่ยง ดังนั้นต้องให้ความรู้ให้เท่าทันการลงทุน อย่าให้เสี่ยงจนเกินไป
  2. การเพิ่มการเข้าถึงตลาดทุน ทั้งในกลุ่มผู้ออม กลุ่มนักลงทุน และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ
  3. การสร้างความเชื่อมั่นและเสริมศักยภาพตลาดทุน เน้นการวางรากฐานในระดับกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้ตลาดมีความมั่นคงในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล
  4. การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 5. การอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องจากปี 2563 แต่เศรษฐกิจปีนี้มีความหวังเนื่องจากปีนี้มีการผลิตวัคซีนได้แล้ว ซึ่งคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนทุกคน หากทำได้เร็วจะลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีความหวังว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจน้อยลง

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่รุนแรง มีการติดเชื้อจำนวนมากกว่ารอบแรก การติดเชื้อแต่ละวันยังเป็นหลักร้อยคน โดยตอนนี้ลดลง เพราะการควบคุมแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพ”

รมว.คลังกล่าว

ส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  1. การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย
  2. การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)
  3. การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

พร้อมระบุว่า ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

  1. วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
  2. วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล
  3. วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top