- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 24,104 คน (+201)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 96 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 89 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 16 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 19,799 คน (+885)
- เสียชีวิตสะสม 80 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 96 ราย จากสมุทรสาคร 56 ราย ตาก 23 ราย กรุงเทพฯ 16 ราย นนทบุรี 1 ราย, จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 89 ราย ในสมุทรสาคร 73 ราย ตาก 14 ราย กรุงเทพฯ 1 ราย ระยอง 1 ราย,ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย มาจากสหรัฐอเมริกา 7 ราย สวีเดน 3 ราย และ ปากีสถาน ซูดาน ญี่ปุ่น รัสเซีย ตุรกี สหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 24,104 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 7,880 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 13,634 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,590 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 19,799 ราย เพิ่มขึ้น 885 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 80 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง คือ กรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาศัยอยู่ภายในหอพักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดรวมแล้วเป็น 14 ราย ซึ่งนอกจากการสอบสวนวงจรการแพร่เชื้อแล้ว ทางจุฬาฯ ได้มีมาตรการที่เข้มข้นในการดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้ตรวจคัดกรอง และหยุดงานเพื่อดูอาการ ตลอดจนการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดพื้นที่ รวมถึงการสืบหาปัจจัยเพิ่มเติมที่อาจจะทำให้การติดเชื้อสามารถแพร่กระจายในวงกว้างได้ ขณะที่กรมควบคุมโรคได้เร่งค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในพื้นที่โดยรอบด้วย
“กรมควบคุมโรค ได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 14 ราย แต่ยังต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีกตลอด ซึ่งต้องติดตามการติดเชื้อในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ร้านอาหาร ตลาด ชุมชน”
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ที่ได้เข้าติดตามสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และสืบหาปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจจะทำให้การติดเชื้อเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้นั้น พบว่าการติดเชื้อภายในสำนักงาน หรือโรงงานจากการสแกนนิ้วมือ หรือสแกนใบหน้า อาจเป็นโอกาสให้มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ ซึ่งอาจต้องมีการทบทวนในเรื่องนี้ รวมถึงการอยู่อาศัยร่วมกันใกล้ชิดภายในหอพัก คอนโดมิเนียม ซึ่งจะต้องยึดการปฏิบัติตัวตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มข้นต่อไป
อย่างไรก็ดี สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดรอบใหม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้ว 59,845 ราย โดยพื้นที่ที่ไม่พบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อมี 2 เขต จากทั้งหมด 50 เขต คือ เขตสะพานสูง และเขตสัมพันธวงศ์
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ว่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดรอบใหม่จนถึง 8 ก.พ.64 มีการคัดกรองเชิงรุกในสถานที่ที่มีความเสี่ยงไปแล้ว 1,048 แห่ง จากพื้นที่เป้าหมาย 1,880 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร โดยโรงงานขนาดใหญ่ (คนงานมากกว่า 500 คน) ตรวจเชิงรุกไปแล้ว 97 แห่ง โรงงานขนาดกลาง (คนงาน 200-500 คน) ตรวจแล้ว 223 แห่ง และโรงงานขนาดเล็ก (คนงาน 50-200 คน) ตรวจแล้ว 953 แห่ง นอกจากนี้ ยังลงตรวจค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ตลาดสดอีก 15 แห่ง ชุมชน 592 แห่ง
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป จ.สมุทรสาคร จะเร่งระดมตรวจหาภูมิคุ้มกันส่วนตัว (anti body) ในแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ Bubble and Seal ซึ่งขณะนี้ได้รับการดูแลอยู่ 42,424 ราย โดยตั้งเป้าว่าจะตรวจหาภูมิคุ้มกันให้ได้วันละ 8,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันส่วนตัวแล้ว จะสามารถกลับไปทำมาหากิน และใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการแนวทางหนึ่งให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร
“มีคนที่อยู่ใน Bubble and Seal ที่เราดูแลไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อที่อื่น 42,424 ราย ซึ่งเราคาดหวังว่าเมื่อแรงงานเหล่านี้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ ซึ่งยังสามารถทำงานได้อยู่นั้น พอนานไปจะมีภูมิคุ้มกันส่วนตัว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป จ.สมุทรสาคร จะมีการระดมตรวจหา anti body ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งตั้งเป้าหมายจะตรวจให้ได้วันละ 8,000 ราย”
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 107,849,724 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,364,864 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 27,897,214 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,871,060 ราย อันดับสาม บราซิล 9,662,305 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,012,710 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,985,161 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 114
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19