น้ำมัน WTI ปิดบวก 32 เซนต์ รับสต็อกน้ำมันดิบลดมากกว่าคาด

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (10 ก.พ.) ขานรับสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างในสหรัฐจะช่วยหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 32 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 58.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 61.47 ดอลลาร์/บาร์เรล

ข้อมูลจาก Dow Jones Market Data ระบุว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดในแดนบวกติดต่อกัน 8 วันทำการ ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.2562 ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดในแดนบวกติดต่อกัน 9 วันทำการ ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2562

สัญญาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 6.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.7 ล้านบาร์เรล

ข้อมูลของ EIA สอดคล้องกับที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ รายงานก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ.

นอกจากนี้ รายงานของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 700,000 บาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ตลาดน้ำมันยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่า รัฐบาลสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ได้ในไม่ช้านี้ หลังจากพรรคเดโมแครตประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track ซึ่งจะช่วยปูทางให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ไบเดนสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนมีความหวังว่า การที่หลายประเทศรวมถึงสหรัฐยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะช่วยปัจจัยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันให้ฟื้นตัวขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 64)

Tags: , , ,
Back to Top