นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าบริษัท พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์ จำกัด หรือ พีทีทีอีพี เอชเคโอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ได้ขุดเจาะหลุมประเมินผล ลัง เลอบาห์-2 (Lang Lebah-2) เสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือน ม.ค.64 ที่ระดับความลึก 4,320 เมตร และค้นพบชั้นหินที่มีก๊าซธรรมชาติหนาสุทธิถึง 600 เมตร ชี้ให้เห็นว่าแหล่งกักเก็บดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้จากการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรก ลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์2 (Lang Lebah-1RDR2) เมื่อปี 62 และจากการทดสอบหลุมประเมินผล ลัง เลอบาห์-2 พบว่ามีอัตราการไหลของก๊าซฯ ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“การค้นพบครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ ปตท.สผ. เคยค้นพบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ด้านการสำรวจครั้งสำคัญให้กับบริษัทแล้ว ยังทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้นว่ามาเลเซียจะเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของ ปตท.สผ. ต่อไปในอนาคต ความสำเร็จครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ Execute ที่เราดำเนินการอยู่ขณะนี้ ได้ช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทในระยะยาว”
นายพงศธร กล่าว
โครงการซาราวัก เอสเค 410บี ตั้งอยู่นอกชายฝั่งรัฐซาราวักประมาณ 90 กิโลเมตร พีทีทีอีพี เอชเคโอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ถือสัดส่วนการลงทุน 42.5% บริษัท คูเวต ปิโตรเลียมฯ มาเลเซีย (เอสเค-410 บี) จำกัด (KUFPEC) 42.5% และบริษัท ปิโตรนาส ชาริกาลี จำกัด 15%
นอกจากโครงการซาราวัก เอสเค 410บี แล้ว ปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในประเทศมาเลเซียอีกหลายโครงการ ได้แก่ แปลงเค, เอสเค 309 และ เอสเค 311, และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ในขณะนี้, แปลงเอช ซึ่งอยู่ในระยะพัฒนา รวมทั้งแปลง เอสเค 417, เอสเค 314เอ, เอสเค 438, เอสเค 405บี, พีเอ็ม 407 และพีเอ็ม 415 ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด ร่วมกับ บมจ. ปตท. (PTT) ในโครงการ MLNG Train 9 ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซธรรมชาติเหลวอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)
Tags: PTTEP, ก๊าซธรรมชาติ, ปตท.สผ., ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พงศธร ทวีสิน, พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์, พีทีทีอีพี เอชเคโอ, หุ้นไทย, แหล่งก๊าซธรรมชาติ