เช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คนทั่วโลกต่างตกตะลึงกับข่าวกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ การที่ทหารบุกควบคุมตัวบรรดาแกนนำของรัฐบาลโดยเฉพาะนางออง ซาน ซูจี ดอกไม้เหล็กแห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดีผู้เป็นที่รักของชาวเมียนมา
หลังจากควบคุมตัวนางซูจี รวมทั้งประธานาธิบดีวิน มินต์ และบรรดาแกนนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้ไม่นาน กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลพรรค NLD และประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างเหตุผลของการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งส่งผลให้พรรค NLD ของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย
อาจกล่าวได้ว่า ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของเมียนมาในสายตาต่างชาติตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นอยู่ในขั้นติดลบ ทั้งจากปัญหาสิทธิมนุษยชน ยาเสพติด ไปจนถึงการปกครองเผด็จการโดยรัฐบาลทหาร แม้เมียนมาพยายามแก้ไขมุมมองดังกล่าวด้วยการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 และปล่อยตัวนางซูจีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนปีเดียวกันหลังถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลานานถึง 15 ปี … แต่การที่เมียนมาได้หวนคืนสู่กรงเล็บของกองทัพอีกครั้ง แม้เพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนชาวเมียนมารู้สึกหมดหวังกับการมีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ยังสร้างความกังวลให้กับคนทั้งโลกที่เฝ้ามองดูว่า เมียนมาจะเดินไปในทิศทางใดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของตนเองกำลังถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และบริษัทต่างชาติจะถอนตัวออกจากดินแดนภายใต้ระบอบเผด็จการแห่งนี้อีกเท่าใดนับจากนี้
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์ ต่างก็ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านจนถึงขณะนี้ โดยผู้ประท้วงพากันชูป้ายที่เขียนคำว่า “Free Daw Aung San Suu Kyi” เพื่อเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางซูจี และมอบประชาธิปไตยคืนสู่ประชาชน … ที่ผ่านมานั้น ชาวเมียนมาเรียกขานนางซูจีว่า DawSuu หรือ Aunty Suu ด้วยความหวังที่ว่า “ป้าซู” จะเป็นแสงสว่างนำทางเมียนมาไปสู่การปฏิรูปประเทศ
เจาะไทม์ไลน์ จากข่าวลือรัฐประหาร สู่ข่าวจริงอันแสนเจ็บปวด
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 — คณะกรรมการการเลือกตั้งแถลงผลการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 โดยระบุว่า พรรค NLD ของนางซูจีกวาดคะแนนไปถึง 346 ที่นั่งจากทั้งหมด 476 ที่นั่ง ทำให้พรรค NLD สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงพรรคการเมืองอื่น ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่กองทหารหนุนหลังนั้น ได้เพียง 33 ที่นั่งเท่านั้น
- วันที่ 5 มกราคม 2564 — พรรค USDP ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้งทั่วไป ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Union Election Commission (UEC) ได้ทำการตรวจสอบพบว่า คำร้องเรียนเหล่านั้นไม่มีหลักฐานยืนยัน
- วันที่ 26 มกราคม 2564 – กองทัพเมียนมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับการโกงรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพได้นำเอกสารบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำผิดพลาดจำนวนมากมาแสดงให้นักข่าวดูด้วย และในระหว่างการแถลงข่าว นักข่าวฝีปากกล้ารายหนึ่งตั้งคำถามว่า หากกกต.ไม่ยอมตรวจสอบการโกงเลือกตั้ง และไม่มีการนำเรื่องทุจริตการเลือกตั้งเข้าไปถกในสภา ทางกองทัพจะทำการรัฐประหารหรือไม่? … เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมาตอบแบบไม่ลังเลว่า “เราไม่ปฏิเสธว่า จะไม่ทำการรัฐประหาร และเราจะปฏิบัติทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ” …ซึ่งนั่นคือสัญญาณแรกที่หลายฝ่ายเชื่อว่า กลิ่นรัฐประหารเริ่มโชยมาแล้วในเมียนมา
- วันที่ 27 มกราคม 2564 – นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเมียนมาได้บรรยายพิเศษทางไกลผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยป้องกันประเทศในกรุงเนปิดอว์ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองด้านการเมืองอย่างกว้างๆ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปแบบของการบริหารทางการเมืองของรัฐหรือประเทศ หากมีผู้ไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็อาจนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ” …ผู้สันทัดกรณีตีความว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งหนึ่งว่า กองทัพเมียนมาเตรียมก่อรัฐประหาร แม้นายพลมิน อ่อง หล่าย ปฏิเสธในเวลาต่อมาว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าวก็ตาม
- วันที่ 28 มกราคม 2564 – นายเมียว ยุนต์ โฆษกพรรค NLD เปิดเผยว่า สมาชิกพรรคได้เข้าพบกับผู้นำกองทัพเพื่อเจรจา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยโฆษก NLD เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทางพรรคเริ่มจับสัญญาณความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากทางกองทัพรู้ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจกองทัพ อย่างไรก็ดี หากเกิดรัฐประหารจริง ทางพรรค NLD ก็จะไม่ใช้กำลังตอบโต้
- วันที่ 29 – 31 มกราคม 2564 — ประชาชนในเมียนมาและทั่วโลกต่างก็ได้ยินข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหารในเมียนมาแบบรายวัน โดยสำนักข่าวออนไลน์หลายแห่งในเมียนมารายงานว่า มีการเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานตอนเหนือ และมีรถหุ้มเกราะหลายคันจอดอยู่ที่วงเวียนอูถ่องโบ่ ใกล้ทะเลสาบกั่นด่อจี เขตบะฮาน นครย่างกุ้ง
- หลังจากกลิ่นรัฐประหารเริ่มเข้มข้น สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำเมียนมา 16 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ในกรุงย่างกุ้งได้ออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง หรือสร้างอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา
- วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 — วันที่ข่าวลือเป็นจริง เมื่อทหารของกองทัพเมียนมาได้บุกเข้าไปควบคุมตัวนางซูจีและบรรดาแกนนำของพรรค NLD ซึ่งรวมถึงปธน.วิน มินต์ จากนั้นไม่นาน นายพลมิน อ่อง หล่าย ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี
- แถลงการณ์ของกองทัพเมียนมาระบุว่า “หลังจากช่วงเวลาของการประกาศภาวะฉุกเฉินผ่านพ้นไปแล้ว เราจะจัดให้มีการเลือกทั่วไปอีกครั้ง โดยจะมีพรรคการเมืองเข้าแข่งขันหลายพรรค และการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เมื่อถึงเวลานั้น ทางกองทัพจะส่งมอบอำนาจให้กับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของประชาธิปไตย”
ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหาร เรียกร้องกองทัพคืนอำนาจให้ประชาชน
ชาวเมียนมาหลายหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมต่อต้านการทำรัฐประหารต่อเนื่องจนถึงวันนี้ แม้ผู้นำกองทัพเมียนมายืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ และจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับเมียนมา แต่ประชาชนเมินหน้าและปักหลักประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้กองทัพประกาศเคอร์ฟิวในเมืองย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยภายใต้คำสั่งเคอร์ฟิวนั้น ชาวเมียนมาจะไม่สามารถออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 20.00-04.00 น. และประชาชนไม่สามารถรวมตัวกันมากกว่า 5 คน
การประท้วงที่ลุกลามบานปลายทำให้ตำรวจในเมืองเนปิดอว์ขู่ใช้กระสุนจริงจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง โดยตำรวจได้วางกำลังเป็น 3 แถว พร้อมกับชูป้ายแสดงข้อความ “เขตใช้กระสุนจริง หากผู้ชุมนุมบุกฝ่าตำรวจแนวที่ 3” นอกจากนี้ ตำรวจได้ใช้กระสุนยางและฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย
กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาเป็นไปอย่างร้อนแรงทั้งในด้านการปฏิบัติและการเผยแพร่ข่าวสาร ทำให้กองทัพตัดสินใจสั่งให้บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ ขณะที่เฟซบุ๊กขอยืนเคียงข้างชาวเมียนมาด้วยการออกแถลงการณ์ว่า “เราขอเรียกร้องให้ทางการเมียนมาทำการเชื่อมต่อการใช้งานเฟซบุ๊ก เพื่อให้ประชาชนในเมียนมาสามารถสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขาได้ และเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญด้วย”
นอกจากนี้ กองทัพเมียนมาได้สั่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตซึ่งรวมถึงเทเลนอร์ ปิดกั้นการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรมแบบไม่มีกำหนด โดยอ้างเหตุผลเดียวกัน
การก่อรัฐประหารที่นำไปสู่การลุกฮือของประชาชนในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความโกลาหลเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้กระบวนการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากบรรดาแพทย์และพยาบาลได้ออกมาร่วมวงประท้วงด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า การรวมตัวกันอย่างแน่นหนาของกลุ่มผู้ประท้วงจะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาเลวร้ายลงไปอีก โดยข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 21 ราย ส่งผลให้ขณะนี้เมียนมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 141,448 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3 ราย สู่ระดับ 3,180 ราย
ประเทศศิวิไลซ์คัดค้านรัฐประหาร ประสานเสียงเรียกร้องปล่อยตัวซูจี
สหรัฐและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้แสดงปฏิกริยาแทบจะทันทีหลังกองทัพเมียนมาก่อการรัฐประหาร โดยนางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า “สหรัฐต่อต้านการกระทำใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งล่าสุดหรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา และจะดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนในการกระทำดังกล่าว”
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนขู่ว่า การที่กองทัพทำให้ประชาธิปไตยในเมียนมาต้องถอยหลังลงคลองในครั้งนี้ อาจทำให้สหรัฐตัดสินใจกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมาอีกครั้ง พร้อมกับเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกร่วมกดดันเมียนมาให้คืนประชาธิปไตยสู่อำนาจของประชาชน และปล่อยตัวนางซูจีพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆของเมียนมา
จากนั้นไม่นาน นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อรัฐประหาร พร้อมกับกล่าวว่า “การก่อรัฐประหารในครั้งนี้จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในเมียนมา และผลการเลือกตั้งทั่วไปก็สะท้อนถึงความปรารถนาที่ชัดเจนของประชาชนเมียนมาในการธำรงไว้ซึ่งเส้นทางสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอันยากเข็ญ”
นอกจากนี้ ชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียน อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต่างก็ออกมาคัดค้านการทำรัฐประหารในเมียนมา นำขบวนโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษซึ่งออกแถลงการณ์ด้วยตนเองว่า “ผมขอประณามการก่อรัฐประหารและการคุมขังพลเรือนโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเมียนมารวมถึงนางออง ซาน ซูจี โดยการลงคะแนนเสียงของประชาชนต้องได้รับความเคารพ และกลุ่มผู้นำพลเรือนต้องได้รับการปล่อยตัว”
ล่าสุด นางจาซินดาร์ อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์จะระงับการติดต่อทางการเมืองและการทหารในระดับสูงกับเมียนมา และเตรียมออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้นำทหารของเมียนมาเดินทางเข้านิวซีแลนด์ นอกจากนี้ นายกฯนิวซีแลนด์ยังยืนยันว่า โครงการให้ความช่วยเหลือเมียนมานั้น จะไม่รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นประโยชน์กับรัฐบาลทหารของเมียนมา
ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่ออกมาแสดงปฏิกริยาคัดค้านการก่อรัฐประหารในเมียนมา แต่ภาคเอกชนยังร่วมวงด้วย ซึ่งรวมถึงบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น และบริษัทเดนโซ คอร์ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น ได้ประกาศระงับการผลิตที่โรงงานในเมียนมา ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ ประกาศจับตาสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อประเมินว่า การก่อรัฐประหารจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโตโยต้าในเมียนมาหรือไม่ ก่อนที่ทางบริษัทจะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการที่วางไว้ว่า จะเริ่มดำเนินการผลิตรถยนต์ที่เมียนมาในเดือนนี้
ด้านบริษัทคิริน โฮลดิ้งส์ ประกาศยกเลิกข้อตกลงร่วมทุนสำหรับสินค้าประเภทเบียร์กับบริษัทเมียนมา เอโคโนมิก โฮลดิ้งส์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมา โดยระบุว่า การที่กองทัพก่อรัฐประหารในครั้งนี้ ขัดต่อหลักการและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท
กองทัพหวั่นถูก NLD-ซูจีลดทอนอำนาจ คาดเป็นมูลเหตุก่อรัฐประหาร
กองทัพเมียนมาอ้างว่าการทำรัฐประหารในครั้งนี้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญมาตราที่ 417 ซึ่งกำหนดว่า หากมีเหตุผลเพียงพอเกี่ยวกับความแตกแยกในสภาหรือสิ่งที่อาจทำให้สูญเสียอธิปไตยเนื่องจากการกระทำหรือความพยายามยึดอำนาจอธิปไตยของสภา ด้วยการจลาจล ความรุนแรง และการกระทำมิชอบ ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยประสานกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อพิจารณาตามมาตรานี้ หมายความว่า กองทัพอ้างเหตุทุจริตการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นเหตุผลที่จะสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร
แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมองว่า กองทัพกังวลว่า หากปล่อยให้พรรค NLD จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และปล่อยให้การประชุมสภาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์สำเร็จลุล่วง ก็จะทำให้พรรค NLD ต่ออายุการเมืองไปได้อีก 5 ปี หรืออาจสร้างมรดกทางการเมืองต่อไปได้อีกนานนับ 10 ปี ดังนั้นจึงต้องรีบทำหมันทางการเมืองให้กับ NLD เสียแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ กองทัพยังต้องการให้ประชาธิปไตยในเมียนมาเป็นไปแบบ “พหุพรรค” หรือประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เพราะการมีพรรคเดียวครองอำนาจจะกลายเป็น “เผด็จการทางรัฐสภา”และมีศูนย์รวมอยู่ที่นางซูจี เนื่องจากเธอเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองอีกส่วนหนึ่งมองว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2551 มาตรา 417 ของเมียนมากำหนดให้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจของประธานาธิบดี และหากประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้รองประธานาธิบดีเป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน … แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์คือ กองทัพตั้งใจควบคุมตัวประธานาธิบดีมินต์เพื่อไม่ให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดีอู มินต์ ส่วย เป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแทน จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นความจงใจให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
อนาคตของเมียนมาในขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เราคงได้แต่จับตามองว่า เมียนมาจะเดินไปในทิศทางใดนับจากนี้ และคงทำได้เพียงแค่ภาวนาว่า ขอให้ชาวเมียนมามีโอกาสได้ชื่นชมกับประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ว่าพวกเขาจะต้องรออีกนานเพียงใดก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)
Tags: กองทัพเมียนมา, การเมืองเมียนมา, ประชาธิปไตย, ม็อบเมียนมา, รัฐประหาร, วิน มินต์, ออง ซาน ซูจี, เมียนมา