นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมวินิจฉัยญัตติขอเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เนื่องจากมีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเบื้องสูงและขัดต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าชี้แจงต่อรายละเอียดของญัตติดังกล่าวต่อนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองญัตติก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ
อย่างไรก็ดี หากกระบวนการญัตติดังกล่าวไม่ถูกบรรจุวาระตามที่ร้องขอ คือ วันที่ 11 ก.พ.64 ก็ไม่ติดใจ เพราะถือว่าได้ยื่นและแสดงเนื้อหาให้ปรากฎแล้วว่าหากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีรื่องที่มิบังควรเกี่ยวเนื่องกับสถาบันเบื้องสูง อาจเข้าข่ายการดึงสถาบันที่มีสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหารือฟ้องร้องทางใดๆ ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจน อาจทำให้มีปัญหาได้
ส่วนจะดำเนินการถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกันกับกรณีพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องรอฟังการอภิปรายอีกครั้ง แต่เชื่อว่าหากการอภิปรายมีถ้อยคำที่เข้าลักษณะกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตีความไว้ หรือพบเนื้อหาของการอภิปรายซึ่งเป็นการกระทำที่ชัดเจนว่าจงใจนำสถาบันเบื้องสูง ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อาจเข้าองค์ประกอบ และอาจมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
“ผมเชื่อว่าญัตติที่เสนอนั้นเป็นคำทักท้วงที่เป็นประโยชน์กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และขอให้พิจารณาการก้าวล่วงถึงสถาบันเบื้องสูงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการบรรจุในสภาฯ สัปดาห์นี้ได้ ในสัปดาห์ถัดไปจะไม่สามารถบรรจุได้ เพราะตามระเบียบวาระเป็นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ โดยไม่สามารถแทรกเรื่องอื่นเข้าสู่การพิจารณาได้”
นายไพบูลย์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)
Tags: ประชุมสภา, พรรคพลังประชารัฐ, สภาผู้แทนราษฎร, อภิปรายทั่วไป, ไพบูลย์ นิติตะวัน