พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรณีพบเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันตรวจพบติดเชื้อ 13 ราย
ทั้งนี้จากการสอบสวนโรค พบว่า มี 1 รายเป็นบุคคลภายนอก ได้มาเยี่ยมพ่อที่พักในหอพักของจุฬาฯ ทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนอีก 12 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ ประกอบด้วย พนักงานรักษาความปลอดภัย 8 ราย ซึ่งมีการรับประทานอาหารร่วมกัน และพนักงานทำความสะอาด 2 ราย โดยเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อจำนวน 10 ราย พักอยู่ที่หอพักจุฬานิวาส ซึ่งเป็นที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ส่วนอีก 2 ราย อยู่ระหว่างติดตามสอบสวนโรค
ปัจจุบัน จุฬาฯ ได้ประกาศให้จุฬานิวาสเป็นเขตต้องดูแลเป็นพิเศษ และได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผู้พักอาศัยทั้งหมด 560 คน รวมทั้งได้ดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงซึ่งมีจำนวน 619 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 230 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 389 ราย นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคและสำนักอนามัยได้ลงพื้นที่บริเวณตลาดสวนหลวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยง เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยหลายคนไปใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว
“กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย จะประสานความร่วมมือกับจุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 บริเวณดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป”
พล.ต.ท.โสภณ กล่าว
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หากไม่นับกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นับว่ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเป็นลำดับ ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง (Accumulate Ative Case Finding) ของโรงงานในพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน จอมทอง และบางขุนเทียน จำนวน 127 โรงงาน (ข้อมูลสะสมถึงวันที่ 8 ก.พ. 64) มีแรงงานที่ผ่านการตรวจฯ รวม 13,590 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 54 ราย ซึ่งจากการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
นอกจากนี้ สำนักอนามัย ได้ดำเนินการค้นหาเชิงรุก (Active case finding) โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ ตลาด สถานประกอบการ และชุมชน ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.63 – 4 ก.พ.64 รวมทั้งสิ้น 58,549 ราย พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 109 ราย
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนทุกคนดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือหรือน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนอยู่หนาแน่นแออัด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่หน่วยงานราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, กทม., กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักอนามัย, โควิด-19, โสภณ พิสุทธิวงษ์