รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับหนังสือจากผู้แทนเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กร
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2020/12/20201225_thaigov_อนุชา-นาคาศัย_IMG_20201225094750000000-1024x681.jpg)
นำโดย นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไทย น.ส.ญาธิชา บัวเผื่อน ส.ส. จันทบุรี พรรคก้าวไกล นายสมยศ ศรีทองคำ สจ.จันทบุรี นายธีระ วงษ์เจริญ รักษาการประธานสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง และคณะ เพื่อคัดค้านการยื่นขอคำอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่ 2 แปลง 14,650 ไร่ ใน ต.พวา ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อต้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในพื้นที่ จ.จันทบุรี
การยื่นหนังสือดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการหารือของเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง 44 องค์กร ซึ่งผ่านการรับรองข้อบังคับสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทองจำนวน 15 คน เพื่อติดตามความคืบหน้าหลังจากเคยยื่นหนังสือแสดงจุดยืนคัดค้านไปยัง 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมถึงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี
สำหรับข้อคัดค้านให้ยุติการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.บริเวณที่จะดำเนินการสำรวจอยู่ในพื้นที่ติดกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1.2 ล้านไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฎ บริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับเขตลุ่มน้ำคลองวังโตนดพื้นที่ 1,839 ตารางกิโลเมตร (1.15 ล้านไร่) นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรีแล้วยังแบ่งปันไปช่วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ที่สำคัญยังเป็นที่อยู่ของช้างป่าประมาณ 400 เชือก ซึ่งมีอัตราการเพิ่มประมาณ 8% ดังนั้นหากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคต ย่อมก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักในแหล่งน้ำ ส่งผลต่อผู้คนในจังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออก รวมทั้งจะสูญเสียพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของจังหวัดจันทบุรี
2.แผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรีดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “จันทบุรีเมืองเกษตรปลอดภัย เศรษฐกิจมูลค่าสูง สังคมมีสุขบนวิถีพอเพียง”ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี 4 มิติ คือ การเกษตร อัญมณี การท่องเที่ยวและการค้าชายแดน รายได้ครึ่งหนึ่งของจังหวัดมาจากภาคเกษตร สร้างมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจให้ชาวจังหวัดจันทบุรีและประเทศแต่ละปีประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลผลิตส่งออกปีละ 600,000 ตันอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 7-10% และความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติทำให้การท่องเที่ยวปี 2562 มีมูลค่าถึง 10,320 ล้านบาท ปี 2563 แม้ว่าจะมีสถานการ์โควิด-19 ยังทำรายได้ถึง 7,874 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากค่าภาคหลวงแร่ ดังนั้นหากมีการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในอนาคตย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีและประเทศ
3.การยื่นขอออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ในอนาคต เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากกระบวนการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่การระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหะ มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารไซยาไนต์ ยิ่งกว่านั้นในหลายๆ จังหวัดที่มีการเปิดประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ชุมชนและประชนประสบปัญหาดังกล่าวอย่างรุนแรง และยังไม่ได้รับการแก้ไขเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม
นายอนุชา กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนตัดสินร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นแนวทางส่วนรวมที่รัฐบาลเพิกเฉยไม่ได้ โดยกระบวนการแก้ปัญหาต้องมีการหารือทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนของภาครัฐ และส่วนของภาคประชาชน ดังนั้นจึงควรมีการหารือพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน หลังจากรับมอบหนังสือจากประชาชนชาวจันทบุรีในวันนี้แล้วจะรีบดำเนินการนำเรียนนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 64)
Tags: จันทบุรี, จารึก ศรีอ่อน, ญาธิชา บัวเผื่อน, ธีรภัทร ประยูรสิทธิ, ธีระ วงษ์เจริญ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ริชภูมิ ไมนิ่ง, สมยศ ศรีทองคำ, อนุชา นาคาศัย, เครือข่ายคนจันท์, เหมืองทอง