รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาวัสดุทางการเกษตร การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต และโดยเฉพาะช่วงนี้ ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทำให้บริเวณดังกล่าวมีสภาพอากาศที่ปิด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ (7-13 ก.พ.) คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและแห้งแล้ง อาจทำให้เกิดไฟป่าหรือการเผาต่างๆ ที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งในระยะเฉียบพลัน เช่น อาการระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก เลือดกำเดาไหล และระยะยาว เช่น หอบหืด มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้ลดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจร ควรสวมหน้ากาก สวมแว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ และโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะเป็นกลุ่มที่อาจจะเกิดอาการกำเริบได้ง่าย หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (6 ก.พ. 64)
Tags: PM2.5, กระทรวงสาธารณสุข, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นพิษ, ฝุ่นละออง