สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.64 อยู่ที่ 99.79 ลดลง -0.34%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือนธ.ค.63 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนม.ค.นี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง จากมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของภาครัฐที่ลดค่า Ft ลง 15.32 สตางค์/หน่วย
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนม.ค.64 อยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับธ.ค.63 เพิ่มขึ้น 0.03%
โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.38% จากเดือนธ.ค.63 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.83% แต่เพิ่มขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.63
“เงินเฟ้อเดือนม.ค. ที่ลด -0.34% มาจากปัจจัยหลักเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่า FT ที่รัฐมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิดที่ลดค่า Ft ลง 15.32 สตางค์/หน่วย ซึ่งค่อนข้างส่งผลพอสมควร รวมทั้งกลุ่มข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียวที่ราคาลดลง”
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว
พร้อมระบุว่า ในเดือนม.ค. อัตราเงินเฟ้อได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะส่งผลให้ภาคการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนนี้ชะลอตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนม.ค.64 ที่ต่างปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี แม้รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการสนับสนุนและเยียวยาจากภาครัฐ ได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยหนุนการใช้จ่ายในระดับภูมิภาค แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากภาคการท่องเที่ยวได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศค่อนข้างมาก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือนม.ค.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 229 รายการ เช่น พริกสด, ผักบุ้ง หัวหอมแดง, น้ำมันพืช, ข้าวราดแกง และเนื้อสุกร เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น แก๊สโซฮอล์, น้ำมันดีเซล, ก๊าซหุงต้ม, ค่าไฟฟ้า, ข้าวสารเจ้า และส้มเขียวหวาน เป็นต้น ในขณะที่มีสินค้า 72 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในเดือนม.ค.นี้ สนค.ได้ปรับไปใช้ปีฐานของปี 2562 ในการนำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปีฐานเดียวกับทุกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนภาวะค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.64 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.ยังมีแนวโน้มหดตัว แต่ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น
“เชื่อว่าในเดือนก.พ.ที่เริ่มทยอยปลดล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งทำให้กิจการ/กิจกรรม เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้นั้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ.กลับมาดีขึ้น”
ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ
โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 1.2% หรือให้กรอบที่ 0.7 – 1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการช่วยเยียวยาประชาชนของภาครัฐซึ่งช่วยในการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้ง”เราชนะ” และ”คนละครึ่ง”นั้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แม้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นแต่เป็นการช่วยสนับสนุนการใช้จ่าย ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้นโดยเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพให้กับประชาชน และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ค้ารายย่อยได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 64)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ค่าไฟฟ้า, พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์, ราคาน้ำมัน, สนค., สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, อัตราเงินเฟ้อ