นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บล.คิงส์ฟอร์ด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของ PACO แล้วในวันนี้
PACO มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 260 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 26% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO ภายในไตรมาส 2/64 คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจาก PACO เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่แอร์รถยนต์ทดแทนในตลาดชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (REM หรือ Aftermarket) ระดับนานาชาติ ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดอะไหล่รถยนต์ทั่วโลก
นอกจากนั้น คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เป็นผลดีต่อบริษัทที่มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง และ มีจุดแข็งด้านการผลิต ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง มีผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง รองรับรถยนต์และรถบรรทุกทุกประเภท โดยการระดมทุนครั้งนี้ นอกจากเพื่อคืนหนี้สถาบันการเงินแล้ว ยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการขยายกิจการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคาดว่า PACO จะพร้อมเข้าระดมทุนในประมาณช่วงต้นไตรมาส 2 ปีนี้
นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACO กล่าวว่า PACO มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ คอยล์ร้อน (Condenser) และคอยล์เย็น (Evaporator) โดยเป็นผู้นำในตลาดอะไหล่รถยนต์ทดแทน (Aftermarket) ภายใต้แบรนด์ ‘PACO’ สำหรับรถยนต์หลากหลายประเภท ครอบคลุมทุกเซ็กเม้นท์ ตั้งแต่ รถยนต์นั่งญี่ปุ่นยอดนิยม เช่น Toyota Honda Mazda Mitsubishi รถกระบะทุกขนาดตั้งแต่ 1 ตัน เช่น Toyota Isuzu Mazda Mitsubishi Nissan จนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่
รวมไปถึงรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV- PPV) รถหรู เช่น Mercedes Benz BMW VOLVO Audi ตลอดจนรถซุปเปอร์คาร์ อาทิ Porsche Lamborghini โดยเรามีสินค้ามากกว่า 2,600 รุ่น ครอบคลุม รุ่นรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากบริษัทฯ อื่น
โดย PACO มีแผนกวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์แอร์รถยนต์รุ่นต่างๆ และสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ด้วยมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 และส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย
ในช่วงครึ่งปีแรก 63 PACO มีรายได้รวม 364 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ รายได้รวม 370 ล้านบาทในงบครึ่งปีแรกปี 62 และมีกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 19 ล้านบาทในครึ่งปีแรกปี 62 โดยเติบโตสูงถึง 141% สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้
ขณะที่ปี 62 บริษัทฯ มีรายได้รวม 694 ล้านบาท เติบโตจาก รายได้รวม 664 ล้านบาทในปี 61 และมีกำไรสุทธิ 31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก กำไรสุทธิ 29 ล้านบาทในปี 61 รายได้หลักในช่วงปี 60-62 มาจากการขายในประเทศ 37% และส่งออก 63% ซึ่งรายได้รวมของ PACO เติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่ถดถอยลงตามจำนวนการผลิตรถยนต์และยอดจำหน่ายรถใหม่ในประเทศที่ลดลง ตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
สำหรับแผนการขยายธุรกิจในปีนี้ PACO ใช้กลยุทธ์การสร้างเครือข่าย ร้านอะไหล่แอร์รถยนต์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ PACO Auto Hub (พาโก้ ออโต้ ฮับ) เพื่อสร้างแบรนด์ PACO ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายในประเทศและเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ของคนไทย
บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีร้าน PACO Auto Hub จำนวน 200 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันได้เปิดไปแล้วกว่า 100 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในร้านจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ คอยล์ร้อนและคอยล์เย็นแบรนด์ PACO เป็นหลัก และมีสินค้าอื่นๆ อาทิเช่น ท่อน้ำยาแอร์ น้ำยาแอร์ เพื่อเป็นการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรในที่เดียว (One-Stop Solution)
ปัจจุบัน PACO มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ก่อตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี เป็น 1 ในผู้บุกเบิกการผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ของไทย และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อะไหล่แอร์รถยนต์แบบครบวงจร ทั้ง คอยล์ร้อน และคอยล์เย็น สำหรับรถที่มียอดจำหน่ายปานกลางถึงสูง ทั้งรถญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกัน รวมมากถึง 2,600 รุ่น โดยบริษัทฯ มี โรงงานผลิต 3 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตบางบอน กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 และได้จำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และ ส่งออกไปทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียและออสเตรเลีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ก.พ. 64)
Tags: IPO, PACO, ก.ล.ต., คิงส์ฟอร์ด, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, วรนันท์ ถาวรนันท์, สมชาย เลิศขจรกิตติ, หุ้นสามัญ, หุ้นไทย, อะไหล่รถยนต์, เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์, ไฟลิ่ง