นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า ขณะนี้มี 3 บริษัทที่ยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แบบฉุกเฉินมาแล้ว โดยรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว คือ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ส่วนอีก 2 บริษัท คือ องค์การเภสัชกรรม ยื่นของบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค จากประเทศจีน และบริษัท แจนเซน ยื่นวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่เอกสารยังไม่ครบ
“ทั้ง 3 เจ้าเป็นการยื่นขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน ข้อมูลอาจจะยังไม่ครบ การให้ทะเบียนจะให้แบบ 1 ปี ดังนั้นทุกปีต้องมีข้อมูลมาประกอบเพิ่มเติมตอนจะต่อทะเบียน นอกจากนี้เมื่อมีการนำมาใช้จะต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานที่ประเทศวางไว้ และต้องมีการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้กลับมา เพื่อให้ประเมินความปลอดภัย ซึ่งเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าวัคซีนแต่ละชนิดที่มีการศึกษาในหลายๆ ประเทศมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ผลข้างเคียงดังกล่าวบริษัทต้องวางแผนว่าต้องเฝ้าระวังอะไร”
นพ.สุรโชค กล่าว
สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำเข้ามาได้เนื่องจากอย่างที่เป็นข่าวที่ทางสหภาพยุโรป (อียู) จำกัดการส่งออก เพราะยังไม่พอใช้ เนื่องจากทุกประเทศเป็นผู้เจรจาการจัดซื้อในจำนวนมาก หากผลิตได้เกินสัญญาก็เชื่อว่าสามารถส่งออกมาได้
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ส่วนจำนวนที่จะนำมาใช้นั้นทาง อย.ไม่ได้ควบคุมด้านปริมาณ เป็นเรื่องของคนซื้อ และหน่วยงานที่จะจัดซื้อ แต่กำหนดว่าจะกระจายให้ใครต้องแจ้งมา เพื่อให้มีกระบวนการติดตาม เพราะอย่างกรณีจีนที่มีวัคซีนปลอมเกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, คณะกรรมการอาหารและยา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ซิโนแวก ไบโอเทค, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สุรโชค ต่างวิวัฒน์, อย., แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19