นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade (Modern Trade Sentiment Index : MTSI) ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2563
ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในธุรกิจ Modern Trade จำนวน 112 ตัวอย่าง ทั้งร้านสะดวกซื้อ, ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และไฮเปอร์มาร์ท ในช่วงวันที่ 23 ธ.ค.63 – 18 ม.ค.64 พบว่า ดัชนี MTSI ในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ระดับ 47.3 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 3/63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.4
สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ Modern Trade ในช่วงไตรมาส 4/63 นี้มีหลายปัจจัย ประกอบด้วย
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่ระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ
- การยกเลิกจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่ และการยกเลิกการจองที่พักในช่วงปลายปี
- ความกังวลต่อการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา หรือแรงงานขาดรายได้
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างมากจากการล็อกดาวน์
- เสถียรภาพด้านการเมืองที่ไม่มั่นคง นำมาซึ่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
- การแข่งขันของธุรกิจ E-commerce
- ภาระหนี้สินของครัวเรือน
- อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ 9.ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้การบริโภคยังไม่ขยายตัว
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่
- คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวันหยุดราชการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้มีวันหยุดยาว 19-22 พ.ย.63 และ 10-13 ธ.ค.63 และยังช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
- ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ประกอบไปด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและประคับประคองเศรษฐกิจไทย
- มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการ
- การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce
- ครม. มีมติขยายโครงการเยียวยาเพิ่มเติมด้วยการอนุมัติวงเงินเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น
- ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวไทย แบบ New Normal
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี
ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการ Modern Trade ถึงปัญหาต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน มี 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านแรก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ จำนวนลูกค้าทั้งในประเทศ (รายย่อย และผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรม) และนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง กำลังซื้อและความถี่ในการซื้อลดลง ต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นจากการดูแลความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน ด้านที่สอง ปัญหาจากการบริหารจัดการธุรกิจทั้งด้านการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า ด้านการจัดสรรบุคลากร การบริหารกระแสเงินสด การขยายสาขา และการลงทุน ด้านที่สาม การพัฒนาธุรกิจการสั่งซื้อออนไลน์ให้ทันกับความต้องการของลูกค้า
โดยผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ดังนี้
- เร่งแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้เร็วที่สุด
- มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยลดค่าใช้จ่ายภาคค้าปลีกและภาคบริการโดยเร่งด่วน เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟ 50% นาน 1 ปี, นำค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิ-19 มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า, พิจารณางดเว้นการเก็บภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินประจำปี 63-65, ขยายระยะเวลาการนำผลขาดทุนสุทธิยกมาจากเดิมไม่เกิน 5 รอบ เป็น 8 รอบระยะเวลาบัญชี
- เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ 4.สนับสนุนให้ธุรกิจค้าปลีกได้มีส่วนร่วมในโครงการของรัฐบาล
พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะด้านนโยบายหรือมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ Modern Trade โดยรวม ประกอบด้วย
- กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศในโครงการช้อปดีมีคืน โดยเพิ่มวงเงินเป็น 50,000 บาท ในไตรมาส 1 ปี 64
- การสนับสนุนบริษัทเอกชนในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการเสริมมาตรการป้องกันโควิด เช่น ให้นำมาหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีธุรกิจได้ 2 เท่า
- การส่งเสริมแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจค้าปลีกและบริการ และผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้เช่า
- ลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 10% เป็นเวลา 3 ปี หรือเลื่อนการจ่ายภาษี เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีนิติบุคคลประจำปี เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องของธุรกิจค้าปลีก
- เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้าง 50% ให้กับโซนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต เพื่อรักษาสถานภาพการจ้างงานในภาคค้าปลีกและภาคบริการไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ ต้องไม่ให้พนักงานออก หรือไม่ภาคค้าปลีกและภาคบริการนำค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานมาหักภาษีได้ 3 เท่าในปี 63-65 6.อนุมัติการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่ม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ก.พ. 64)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่น, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย