นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในปีนี้เปิดหน่วยปฏิบัติการฯ เร็วขึ้น จากเดิมปกติทุกวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เนื่องด้วยสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีแนวโน้มอาจจะรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณต่ำกว่า 30% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำ
โดยในปี 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ป้องกันการเกิดไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย
1.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA หรือ NC212i จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET จำนวน 1 และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ณ สนามบินท่าอากาศยานตาก อำเภอเมือง จังหวัดตาก มีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA หรือ NC212i จำนวน 2 ลำ
2.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ณ กองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA หรือ NC212i จำนวน 2 ลำ และชนิด Super King Air 350 จำนวน 1 ลำ
3.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินของกองทัพบก ชนิด CASA 212 จำนวน 1 ลำ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ณ สนามบินกาญจนบุรี ค่ายสุรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ
4.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ณ สนามบินกองบิน 23 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CN-235 จำนวน 1 ลำ และ และตั้งฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ณ สนามบินท่าอากาศยานขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
5.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ
6.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ
7.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ กองบังคับการกองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CN จำนวน 1 ลำ และ ตั้งหน่วยปฏิบัติการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีเครื่องบิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN 2 ลำ โดยจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 64)
Tags: กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, การเกษตร, ปนิธิ เสมอวงษ์, ฝนหลวง, ภัยแล้ง, อ่างเก็บน้ำ, เขื่อน