ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในเดือนก.พ. 64 คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 64 ไว้ตามเดิม โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 1.5-3.5% และคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ในกรอบ 0.8-1.0%
เนื่องจากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในปี 64 แม้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกจะมีแนวโน้มชะลอลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านั้นเริ่มลดลง ประกอบกับหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว และมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะสามารถกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- 1) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องเร่งตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อ
- 2) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ
ทั้งนี้ ความท้าทายหลักจะอยู่ที่ตลาดแรงงานซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัดได้ซ้ำเติมธุรกิจหลายประเภทที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากการระบาดครั้งก่อน ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าศักยภาพจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อโดยรวมลดลง
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในสหภาพเมียนมา กกร.มีข้อกังวลว่าหากมีการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างประเทศ อาจส่งให้การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากไทย และขอให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจของรัฐบาลเมียนมาเป็นไปโดยสงบ และให้คงข้อตกลงหรือสัญญากับประชาคมต่าง ๆ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ภาคเอกชนรอดูท่าทีของประเทศตะวันตกที่มีต่อเหตุรัฐประหารในเมียนมา แต่คาดว่าอีกสักพักทุกอย่างน่าจะเข้าที่เข้าทาง เนื่องจากรัฐบาลรักษาการมาจากรัฐบาลเดิมหลายคน และที่สำคัญเหตุครั้งนี้ยังไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนไทยในเมียนมานั้นมีเม็ดเงินลงทุนตั้งแต่ปี 48 รวม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเป็นสาขาพลังงาน โรงแรม วัสดุก่อสร้าง การเงิน
นายสุพันธุ์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมออกโครงการ”เรารักกัน” เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นั้นว่า ทุกโครงการที่มาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเป็นเรื่องดีทั้งนั้น และอยากให้มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่ห่างหายไปนาน
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของประเทศ เพราะระบบเศรษฐกิจของไทยอาศัยการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศด้วย โดยผู้ประกอบการพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ขอให้รัฐบาลพิจารณาลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ภาคเอกชนยังเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการฉีดวัคซีนที่มีปริมาณมากถึง 60 ล้านโดส ในช่วงเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.64) หากคิดเฉลี่ยออกมาจะต้องฉีดมากถึงชั่วโมงละ 2.5 หมื่นโดส ซึ่งที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ในปริมาณเพียง 3 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งขอให้ผู้รับผิดชอบจัดทำแผนบริหารจัดการให้ชัดเจน ส่วนการดำเนินมาตรการคัดกรองเชิงรุกนั้นเป็นผลดี แต่ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ก.พ. 64)
Tags: GDP, กกร., กลินท์ สารสิน, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน, จีดีพี, ภาคเอกชน, ส่งออก, สุพันธุ์ มงคลสุธี, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน