ครม.เห็นชอบเปลี่ยนโทษอาญาความผิดเล็กน้อยปรับเป็นโทษทางพินัย แทนจำคุก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รัฐบาลต้องจัดทำกฎหมายเปลี่ยนแปลงโทษอาญาที่สามารถเปรียบเทียบเพื่อให้คดียุติได้ให้เป็นโทษปรับทางปกครองนั้น

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ครม. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งเรียกมาตรการใหม่นี้ว่า “การปรับเป็นพินัย”

ซึ่งผู้กระทำความผิด ต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด และการปรับนั้นไม่ใช่เป็นโทษปรับทางอาญา รวมทั้งจะไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ตัวอย่างความผิดเล็กน้อยที่เป็นโทษอาญา เช่น

  1. ไม่แสดงใบขับขี่ (ปรับไม่เกิน 1 พันบาท)
  2. สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ (ปรับไม่เกิน 2 พันบาท)
  3. จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ (ปรับไม่เกิน 2 พันบาท) เป็นต้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้

  1. กำหนดให้มี “โทษปรับเป็นพินัย” เป็นโทษอีกประเภทหนึ่ง แยกจากโทษอาญาและโทษปกครอง เพื่อใช้เป็นกฎหมายกลาง
  2. มุ่งหมายให้ใช้โทษปรับเป็นพินัยแก่การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่ไม่ร้ายแรง แทนการกำหนดให้เป็นโทษอาญา
  3. เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้มีอำนาจสั่งปรับ โดยสามารถกำหนดจำนวนค่าปรับตามความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมทั้งปวง หรือจะกำหนดให้ทำงานบริการสังคมแทนก็ได้
  4. ถ้าผู้ถูกปรับเป็นพินัยชำระค่าปรับเป็นพินัยเข้าหลวงแล้ว เป็นอันยุติจบเรื่อง ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม และสามารถจ่ายค่าปรับทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
  5. ถ้าผู้ถูกปรับคัดค้าน หรือไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องส่งเรื่องและสำนวนให้อัยการดำเนินการฟ้องศาลจังหวัด
  6. ให้เปลี่ยนความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายต่างๆ เป็นความผิดทางพินัย เว้นแต่การปรับทางปกครองที่เป็นมาตรการบังคับทางปกครอง และโทษปรับทางปกครอง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
  7. ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 จำนวน 183 ฉบับ เป็นโทษปรับเป็นพินัยภายใน 365 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  8. สำหรับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามบัญชี 2 จำนวน 30 ฉบับ จะตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนให้เป็นโทษปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ต้องเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน
  9. เมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฉพาะในการกำหนดโทษปรับอาญาในข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นปรับเป็นพินัย

“ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้คือ

1) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้ความผิดอาญาเฉพาะการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น เพื่อป้องกันการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินควร

2) สร้างความเป็นธรรมในสังคมและลดการทุจริต โดยเปลี่ยนความผิดร้ายแรงเป็นโทษปรับทางพินัย ซึ่งจะมีกฎหมายอย่างน้อย 183 ฉบับ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโทษทางพินัย

3) ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับ ไม่ต้องประกันตัว และไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม”

น.ส.รัชดากล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ก.พ. 64)

Tags: , , ,
Back to Top