เป็นกระแสที่กำลังพูดถึงกันอย่างมากถึงกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ในล็อตแรก แม้ล่าสุดจะมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีนว่าอาจไม่ทันกำหนดเดิมที่คาดจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกวันที่ 14 ก.พ.นี้ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่งและอียูจำกัดการส่งออกวัคซีน แต่รัฐบาลยังยืนยันว่าแผนการนำวัคซีนเข้ามาถึงประเทศไทยให้ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้อย่างแน่นอน
หากไล่เรียงตามปฎิทินวัคซีนโควิด-19 ที่จะฉีดให้กับประชาชนคนไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ไปถึงเดือน พ.ค.ประเทศไทยที่จะรับวัคซีนล็อตแรกจาก “แอสตร้าเซนเนก้า” ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ 150,000 โดส หลังจากนั้นเป็นวัคซีน “ซิโนแวก” ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีนอีก 2 ล้านโดส รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัทไทยที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ อีกจำนวน 26 ล้านโดสภายในเดือน พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นยังจะมีส่วนที่รัฐบาลสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ประเมินว่าภายในปี 64 จะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรคนไทย 50%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะข่าวดีการนำเข้าวัคซีน แต่ก็กลับมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับวัคซีนที่นำเข้ามาฉีดให้กับคนไทยถึงความปลอดภัย, โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว จะมีผลข้างเคียงเป็นอันตรายหรือไม่ และวัคซีนนี้จะครอบคลุมเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในฝั่งของอังกฤษและแอฟริกาหรือไม่ ?? *คนไทยทุกคนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ ??
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศ ด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ประชากรทุกคนจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน เพราะหากย้อนไปอดีตการสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคระบาด คือต้องปล่อยให้ติดเชื้อไปเรื่อยๆ เมื่อบางคนโชคดีรักษาหายร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
แต่ในยุคสมัยปัจจุบันการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีคือการฉีดวัคซีน ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยป้องกันการระบาดเพิ่มขึ้นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศควรมีภูมิคุ้มกันผ่านวัคซีน ซึ่งอยากให้มองว่าความร้ายแรงของเชื้อโควิด-19 พบว่าบางคนร่างกายรับไม่ไหวก็ถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นการที่เราไม่เป็นผู้ติดเชื้อจากการป้องกันด้วยวัคซีนนับเป็นสิ่งที่ดีและควรปฎิบัติ
สำหรับมุมมองความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่หลายคนกังวลนั้น ยอมรับว่าอาจมีบ้างแต่เป็นปกติของทุกวัคซีน ไม่ใช่แค่เฉพาะวัคซีนโควิด-19 ตัวอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนต่างๆ ที่ฉีดตั้งแต่เด็ก โดยปกติก็จะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น อาการมีไข้เล็กน้อย ปวดเมื่อยบ้าง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติแค่ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนผลข้างเคียงที่มีอาการแพ้รุนแรงปัจจุบันยังพบเป็นส่วนที่ต่ำมากเพราะมาตรฐานทางการแพทย์ยุคปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และกว่าที่จะนำมาใช้งานจริง ต้องมีการทดสอบลายขั้นตอนแล้วว่าปลอดภัยสูงมาก
“ถ้าถามมุมมองรายบุคคลไม่ฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ก็อยากมองว่าเป็นความสมัครใจส่วนบุคคลไม่ได้บังคับ ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งข้อดีของการฉีดวัคซีนก็จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น แม้ว่าจะมีคนที่กังวลเรื่องผลข้างเคียง แต่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้แพราะเป็นเรื่องใหม่ พัฒนาวัคซีนกันมาไม่ถึงปี ส่วนตัวก็มองเป็นเรื่องปกติ”ศ.นพ.มานพ กล่าว
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวกเหมาะกับคนไทยแค่ไหน ??
สำหรับวัคซีนของซิโนแวก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากนัก ทราบจากรายงานข่าวเท่านั้น จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีผลงานวิจัยทางการแพทย์ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการแล้ว เป็นผลจากการศึกษาจากประชากรหลายหมื่นคนและมีโครงสร้างร่างกายที่มีความหลากหลาย ดังนั้นเป็นการอ้างอิงจากข้อมูลดังกล่าวที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงแม้ว่าจะนำวัคซีนที่พัฒนาจากประเทศอังกฤษมาใช้กับคนไทยเชื่อว่าประสิทธิผลของวัคซีนก็จะป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ใกล้เคียงกัน
เด็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัวควรฉีดหรือไม่-สูตร 2 เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน ??
สำหรับกลุ่มคนที่สมควรฉีดวัคซีนคือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหากติดเชื้อจะผลอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรครุมเร้าเยอะ ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อคือบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนของงานป้องกันการระบาด
แต่ในส่วนของ “เด็ก” ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรองรับเนื่องจากผลการศึกษาเฟส 3 ได้ทดสอบกับอาสาสมัครอายุเกิน 18 ปี ยกเว้นแค่วัคซีนของไฟเซอร์ที่ทดสอบกับอาสาสมัครกับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบวัคซีนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16-18 ปี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะไม่มีประสิทธิผลป้องกันเชื้อโควิด-19 หลังจากนี้ก็ต้องรอข้อมูลทางการแพทย์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ปัจจุบันวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ที่จะนำเข้ามาในไทยเป็นวัคซีนต้องฉีด 2 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ ภายหลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้วเว้นระยะ 4 สัปดาห์เพื่อมั่นใจว่าร่างกายกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ ส่วนวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหนนั้น ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานหลายปี
“อย่าลืมว่าโควิด-19 อยู่กับเราแค่ปีกว่าๆ ทำให้ยังไม่มีข้อมูลว่าภูมิคุ้มกันหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 อยู่กับร่างกายนานแค่ไหน ซึ่งคงต้องอาศัยการติดตามกลุ่มคนที่ติดเชื้อรุ่นแรกๆ เช่น ประชาชนในประเทศจีนเป็นอย่างไร เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกายกลับมาต่อต้านเชื้อได้หรือไม่ เป็นต้น”
วัคซีนครอบคลุมเชื้อกลายพันธ์จากฝั่งอังกฤษและแอฟริกา ??
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีที่ไฟเซอร์และโมเดอร์น่า รายงานว่าวัคซีนครอบคลุมเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ทั้ง 2 สายพันธ์ทั้งฝั่งอังกฤษและแอฟริกา แต่ต้องทำใจก่อนเลยว่าการกลายพันธ์ของเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นแน่นอนจากเชื้อที่มีการะบาดหนักไปทั่วโลก และการกลายพันธ์อาจทำให้วัคซีนรุ่นเก่าไม่ได้ผล ทำให้คงต้องมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันกับเชื้อสายพันธ์ใหม่
แต่ก็ไม่อยากให้ต้องเป็นกังวล เพราะโลกนี้คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ทีมคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเตรียมพร้อมพัฒนาวัคซีนป้องกันการกลายพันธ์ของเชื้ออยู่แล้ว เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันทุกๆปี ก็เพื่อป้องกันการกลายพันธ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยสามารถทำได้สบายมาก ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดว่าต้องรอผลจากการรายงานอีกครั้งเพราะเพิ่งฉีดไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนคาดว่าจะเห็นผลประมาณเดือน ก.พ.นี้ *ให้คนไทยได้วัคซีนครบ 100% ภายใน 2 ปีต้องเร่งฉีดสัปดาห์ละ 1 ล้านเข็ม
สมมติว่าคนไทยทุกคนยินยอมพร้อมใจฉีดทุกคน รัฐบาลคงต้องมีกระบวนการระดมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ กรณีต้องการให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทุกคนภายในสิ้นปี 65 ก็จะมีเวลาประมาณ 2 ปี หรือประมาณ 100 สัปดาห์คิดเป็น 1 คนต่อ 2 เข็ม ดังนั้นประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยสัปดาห์ละ 1 ล้านเข็มเป็นอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งต้องมาดูว่าทำได้หรือไม่จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็มต่อ 1 สัปดาห์
“ปัจจุบันวัคซีนที่ฉีดให้กับคนไทยมากที่สุดคือวัคซีนเด็กแรกเกิด ปีแรกเด็กฉีดปีละ 6 เข็ม เด็กเกิดเฉลี่ยกว่า 700,000 คนต่อปี ต้องใช้วัคซีนเฉลี่ย 4 ล้านกว่าโดสตลอดทั้งปี และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วงระบาดประมาณ 4-5 ล้านโดสเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเปรียบกับวัคซีนที่ฉีดเป็นปกติประมาณกว่า 10 ล้านเข็มเท่านั้น และหากเปลี่ยนมาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 50 ล้านเข็มหรือสูงขึ้นประมาณ 5 เท่า”
สำหรับมุมมองการเปิดประเทศนั้นคงต้องมาดูว่าคนไทยสามารถมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้แค่ไหน เช่น การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 70% หรือประมาณ 50 ล้านคนเฉลี่ยฉีดสัปดาห์ละ 1-2 ล้านคนต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี และกรณีหากคนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วคงต้องมาพิจารณาเรื่องการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศหรืออาจจะมีการทำพาสปอร์ตที่มีการระบุชัดเจนว่าได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, ซิโนแวก, มานพ พิทักษ์ภากร, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้า เซนเนก้า, โควิด-19