ตัวแทนสมาคมคราฟต์เบียร์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องขอผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้ และขอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ จากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน
โดยระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประมาณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นราว 150 ล้านบาท/เดือน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ตัวแทนผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน”
นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ระบุ
ดังนั้น สมาคมฯ ขอเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบ ดังต่อไปนี้
- ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
- ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้านได้
- ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย
- ผ่อนปรนให้ร้านค้าสามารถโพสต์รูปสินค้า และอธิบายสินค้าทางสื่อโซเซียลได้
- อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม
- อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
หลังจากได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทางตัวแทนผู้ประกอบการได้นำคราฟท์เบียร์และเบียร์สดมาเททิ้ง เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 ก.พ. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, คราฟต์เบียร์, สมาคมคราฟต์เบียร์, อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เบียร์