พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มก้อนวงโต๊ะแชร์ใน จ.มหาสารคามว่า ผู้ป่วยชายรายแรกของคลัสเตอร์นี้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในช่วงปีใหม่ คาดว่าจะได้รับเชื้อ จากนั้นเดินทางกลับมหาสารคามในวันที่ 3 ม.ค. แต่ระหว่างนั้นได้แวะเยี่ยมพี่สาวที่ จ.นครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 คน
ต่อมาผู้ป่วยชายรายนี้ยังได้ไปสถานที่ต่างๆ ใน จ.มหาสารคามอีก เช่น ตลาด ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอาหาร รวมถึงกินเลี้ยงโต๊ะแชร์อีก 5-6 งานในระหว่างวันที่ 10-21 ม.ค. ซึ่งในคลัสเตอร์นี้ทำให้มีผู้เสี่ยงสูง 78 ราย เสี่ยงต่ำ 32 ราย รวมเป็น 110 ราย อยู่ระหว่างรอผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการแถลงรายละเอียดโดยกระทรวงสาธารณสุขช่วงบ่ายนี้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ต้องเรียนรู้จากคลัสเตอร์นี้ คือ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ไปงานเลี้ยงโต๊ะแชร์กลุ่มนี้จะอยู่ในวัยที่ค่อนข้างมีอายุ 50-70 ปี ซึ่งงานเลี้ยงโต๊ะแชร์เมื่อมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มสุรา และไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ร่วมกันเกินกว่า 15 นาทีในสถานที่ปิด มีการพูดคุยกันเสียงดัง อาจมีการไอจามรดกัน ที่สำคัญไม่ได้มีการสแกนแอปฯ ไทยชนะหรือหมอชนะ ซึ่งทำให้ยากต่อการติดตามผู้สัมผัสมาสอบสวนโรค
“นี่ก็นำไปสู่คำถามว่าผ่อนคลายมาตรการแล้ว ทำไมไม่ให้ดื่มสุรา ทำไมร้านต้องจำกัดเวลา ก็เพราะตัวเลขที่เห็นเหล่านี้ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ มาเรียนรู้ สิ่งสำคัญคืออยากให้ผู้ประกอบการช่วยเสนอมาตรการเข้ามาด้วยว่าจะกำกับดูแลลูกค้าหรือผู้เข้าไปใช้บริการอย่างไร ซึ่งศบค.จะได้นำมาพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ มาตรการทางสังคมก็ทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่การระบาดยังสามารถควบคุมได้”
พญ.อภิสมัย ระบุ
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายแรกจากกลุ่มเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่จ.มหาสารคามว่า เป็นชายอายุ 46 ปี เจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ มีประวัติเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาพักย่านสุทธิสารเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ และต่อมาวันที่ 3 ม.ค.64 ได้เดินทางกลับจังหวัดมหาสารคาม ระหว่างทางแวะกินข้าวกับแม่และญาติที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย หลังจากนั้นกลับมาเปิดร้าน ซึ่งปกติจะไม่ใส่หน้ากากหากไม่มีลูกค้า และเดินทางไปสถานที่ต่างๆ
ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ในวันที่ 10 ม.ค.64 และเริ่มปวดเมื่อยตามตัวในวันที่ 18 ม.ค.64 แต่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์และไปร่วมงานเลี้ยงอีกหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค.64 มีอาการป่วยจึงไปพบแพทย์ที่ศูนย์แพทย์แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และในวันที่ 27 ม.ค.64 จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาสารคาม ซึ่งผลตรวจออกมาติดเชื้อ
ในวันที่ 28 ม.ค.64 พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก 5 คน คือ ภรรยาของผู้ป่วยชายรายนี้ และเพื่อนที่นั่งกินเลี้ยงด้วยกันอีก 4 คน ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อเหล่านี้ยังนำเชื้อไปแพร่ต่อให้คนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น ในรายเด็กหญิงอายุ 4 เดือนที่จังหวัดราชบุรี ติดจากคนในครอบครัวที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายแรก จากนั้นในวันที่ 29 ม.ค.64 ก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีการตรวจเชิงรุกในวันที่ 30 ม.ค.64
ล่าสุดกรณีนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 16 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยง 110 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 32 ราย ขณะนี้ยังรอผลตรวจหาเชื้อ รวมทั้งการสอบสวนโรคเพิ่มเติมจากผู้ติดเชื้อกลุ่มก้อนเดียวกันที่เดินทางไปจ.ขอนแก่น
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การติดเชื้อที่พบในช่วงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ที่มีความใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท เนื่องจากการแพร่เชื้อเกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่มีอาการป่วย เช่นกรณีกลุ่มโต๊ะแชร์ที่จังหวัดมหาสารคาม ขณะที่ผู้มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงแม้จะไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นขอให้ทุกคนต้องดูแลตัวเองตามหลักชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด ลดเดินทางเข้าไปในพื้นที่แออัด ไม่มีอากาศถ่ายเท
“การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อให้เหลือศูนย์ไม่ใช่เป้าหมายของเรา หากต้องการจะทำให้ได้ตัวเลขเป็นศูนย์ ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นซึ่งส่งผลกระทบมาก ทั้งเรื่องต่อการดำเนินชีวิตและระบบเศรษฐกิจ เราขอเพียงให้อยู่ในระดับที่สามารถดูแลบริหารจัดการได้”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, มหาสารคาม, ศบค., อภิสมัย ศรีรังสรรค์, เฉวตสรร นามวาท, โควิด-19, โต๊ะแชร์