ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปี 63 จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากภาครัฐเพิ่งออกมาตรการเพิ่มเติม ทั้งนโยบายการเงินที่มุ่งเน้นช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ขยายเวลาการพักชำระหนี้ออกไปถึงเดือน มิ.ย.64 การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ และการลดค่างวดผ่อนชำระลง ขณะที่มาตรการการคลังได้มีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง
รวมถึงมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ โดยเม็ดเงินที่ใช้ในมาตรการการคลังในรอบนี้มีขนาด 1.4% ของ GDP น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดกระลอกใหม่ได้พอสมควร นอกจากนี้เงินบาทที่ชะลอการแข็งค่าช่วยลดความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
จุดจับตาคงอยู่ที่ผลการประเมินเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ในเดือน มี.ค.นี้ รวมถึงมาตรการทางการเงินการคลังเพิ่มเติมที่จะออกมาดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยในการประชุม กนง.รอบเดือน มี.ค.นี้จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยจากครั้งล่าสุดที่มีการประเมินไว้เมื่อเดือน ธ.ค.63 ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะฟื้นตัวที่ 3.2% แต่ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื่อไวรัสโควิด-19 เข้าไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การประเมินทิศทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังขึ้นอยู่กับมาตรการจากทางการที่จะออกมาเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้วในเดือน ม.ค. โดยประเด็นติดตามในระยะสั้นคงจะอยู่ที่จำนวนของลูกหนี้ที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะสะท้อนขอบเขตของผลกระทบ รวมถึงลักษณะเฉพาะของลูกหนี้ที่เผชิญปัญหาในรอบนี้ด้วย ซึ่งอาจจะนำมาสู่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการซอฟท์โลนใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ การประเมินทิศทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 64 ยังขึ้นอยู่กับมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในและต่างประเทศ ปัจจัยบวกจากเรื่องวัคซีน รวมถึงทิศทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งหากการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ในเดือน มี.ค.ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมรอบเดือน ธ.ค.63 อย่างมีนัยสำคัญ กนง.ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 64)
Tags: ดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยนโยบาย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย