นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2563 ว่า แม้ในปี 2563 จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ ธอส. ยังคงสามารถสร้างโอกาสให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่สูงสุดในรอบ 67 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารที่ 225,151 ล้านบาท จาก 140,386 บัญชี เพิ่มขึ้น 4.57% สูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท
แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 88,007 ราย ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,320,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.18%
โดยมีสินทรัพย์รวม 1,399,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.41% เงินฝากรวม 1,162,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 47,572 ล้านบาท คิดเป็น 3.60% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากปี 2562 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.09% ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้การเกิด NPL อยู่ในอัตราที่ลดต่ำลง
ในปี 2563 ธอส. ได้ช่วยเหลือลูกค้าผ่าน 10 มาตรการ มีจำนวนสูงสุด 687,489 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 576,139 ล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารยังได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต และเพื่อรองรับมาตรฐาน TFRS 9 เป็นจำนวน 96,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.18% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 202.76% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธนาคารและความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 10,494 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,858 ล้านบาท หรือ 21.41% เนื่องจากธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 15.30% (ณ พฤศจิกายน 2563) สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมาย แม้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา คือ ธอส. นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ มาออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด และตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละอาชีพ ทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Social Solution สำหรับผู้มีรายได้น้อย อาทิ มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ยอดอนุมัติและทำนิติกรรมสูงสุดถึง 28,540 ล้านบาท โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน 28,900 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อในกลุ่ม Business Solution สำหรับผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ผลิตภัณฑ์ที่มียอดอนุมัติและทำนิติกรรมสูงสุดคือ สินเชื่อ D Plus ไตรมาส 3-4 จำนวน 21,970 ล้านบาท รวมถึงแรงส่งจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และการจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับปี 2564 ธอส. ยังคงเดินหน้าด้วยแนวคิดหลัก “Be Simple, Make it Simple” หรือการทำให้คนไทยเข้าถึงการมีบ้านได้ง่าย ๆ กับ ธอส. สอดคล้องกับพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน โดยเตรียมจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดใหม่ นำมาจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่จำนวน 215,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากเป้าหมายในปี 2563
สินเชื่อคงค้างที่ 1,374,116 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 คือ การยกระดับบริการธนาคารสู่ Digital Service Bank ในปี 2564 และก้าวไปสู่การเป็น Digital Bank อย่างเต็มรูปแบบในปี 2566 ตาม Roadmap “บันได 3 ขั้น ด้วยการนำบริการหลักทั้งสินเชื่อและเงินฝากขึ้น Digital Platform เพื่อให้บริการลูกค้าโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา ตั้งเป้าลดจำนวนธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ภายในสาขาให้เหลือ 5% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด ส่วนจำนวนธุรกรรมผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ตู้ชำระเงินกู้ LRM หรือ QR Non Cash Payment ที่หน้าสาขาเหลือ 15% และเพิ่มจำนวนธุรกรรมผ่าน Application : GHB ALL เป็น 80% ภายในปี 2565
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ GHB New Normal Services ในเฟสที่ 3 ซึ่งมีกำหนดให้บริการในเดือนมีนาคม 2564 รวมถึงเดินหน้าโครงการ Virtual Branch หน่วยบริการสินเชื่อไร้ที่ทำการ โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาแต่ยังคงได้รับบริการเสมือนอยู่ที่สาขา ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2564 มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านโครงการจำนวน 10,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาโควิด-19 อย่างใกล้ชิดผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วย 4 มาตรการ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (เงินงวดที่ชำระจะตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน โดยเริ่มเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ล่าสุด ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 24:00 น. มีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการแล้วรวมจำนวนกว่า 102,000 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 95,000 ล้านบาท
สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ธนาคารจะเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่ 11 ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00 น. ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 22.00 น. เพื่อลดเงินงวดผ่อนชำระ (เงินงวดที่ชำระจะตัด เงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 64)
Tags: ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธอส., ผลประกอบการ, สินเชื่อ