นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปี 64 จะมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน หรือเพิ่มขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการเริ่มการผลิตปิโตรเลียมใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช
พร้อมกันนั้นยังคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 29-30 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน
ส่วนแผนการลงทุนปี 64 ปตท.สผ. ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4,196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) เพื่อรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก เร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และดำเนินกิจกรรมการสำรวจเพื่อการเติบโตในระยะยาว
สำหรับภาพรวมตลาดน้ำมันปี 64 คาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวเนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์สรอ./บาร์เรล ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การฟื้นตัวของอุปสงค์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อุปทานจากกลุ่มผู้ผลิตหลัก ๆ อาทิ โอเปก รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา
ส่วนสถานการณ์ LNG ในตลาดโลกในปี 64 ยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาด โดยกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการ
ใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 24 ล้านตัน เป็น 402 ล้านตัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6% จากปี 63 ในขณะที่ความต้องการรวมจะอยู่ที่ 375 ล้านตันต่อปี (ข้อมูล จาก FGE เดือน ธ.ค.63) ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวนสูงในปี 64 จะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อราคา LNG
ความต้องการ LNG ในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดเสรีการค้า LNG (Market Liberalization) ในประเทศต่างๆในเอเชียซึ่งทำให้เกิดผู้ค้า LNG มากขึ้น ประกอบกับภาวะถดถอยของกำลังการผลิตก๊าซในหลายประเทศ (Domestic Gas) ก็จะมีผลทำให้ความต้องการนำเข้าLNG เพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ราคาเฉลี่ย 2021 Asian Spot LNG สำหรับปี 64 อยู่ประมาณ 6.4-7.6 ดอลลาร์ สรอ./ล้านบีทียู (ข้อมูลจาก Woodmac และ FGE เดือน ม.ค.64)
นายพงศธร กล่าววา สำหรับผลประกอบการปี 63 บริษัทมีรายได้รวม ที่ 5,357 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 167,418 ล้านบาท) ลดลง 16% จากปี 62 ซึ่งมีรายได้รวม 6,413 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 198,822 ล้านบาท) โดยปัจจัยหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลง 18% มาอยู่ที่ 38.92 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 47.24 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 62 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงมากในปี 63 สืบเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
ประกอบกับ บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring items) โดยได้ตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันในระยะยาวที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ และโครงการเยตากุน ประเทศเมียนมา สาเหตุมาจากการปรับแผนการผลิตลดลงตามศักยภาพปัจจุบันของแหล่งผลิต
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เมื่อเทียบกับ 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วันในปี 62 และมีผลกำไรจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) จำนวน 112 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,632 ล้านบาท)
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในปี 63 ที่ 720 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 22,664 ล้านบาท) ลดลง 54% จากปี 62 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,803 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 30.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 68% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ และยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยเงินสดในมือ 3,804 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 114,261 ล้านบาท)
“ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจปิโตรเลียมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งเรื่องสงครามราคาน้ำมัน และผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง ปตท.สผ. ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แต่บริษัทยังคงมีผลกำไรใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเราได้การปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานหลายประการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้โครงสร้างต้นทุนลดลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และยังสามารถขยายธุรกิจได้ตามเป้าหมาย เช่น การได้รับสิทธิสำรวจแปลง 12 ในโอมาน และการชนะการประมูลแปลงสำรวจออฟชอร์ 3 ในยูเออี นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาให้เดินหน้าพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Integrated Domestic Gas to Power)
รวมถึงการขยายธุรกิจ AI & Robotics Venture (ARV) เพื่อให้บริการด้านการเกษตรแบบครบวงจรในรูปแบบของแพลตฟอร์ม และธุรกิจการบริการงานวิศวกรรมใต้ทะเล ตามแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 63 นั้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในระยะยาว สำหรับในปี 64 ยังมองหาโอกาสการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้ง ธุรกิจใหม่ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคต”
นายพงศธร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)
Tags: LNG, PTTEP, น้ำมัน, น้ำมันดิบ, ปตท.สผ., ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ปิโตรเลียม, ผลประกอบการ, พงศธร ทวีสิน