- สศค. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 หดตัว -6.5% จากเดิมคาด -7.7%
- สศค. ปรับลดประมาณการ GDP ปี 64 เหลือโต 2.8% จากเดิมคาด 4.5%
- สศค. ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 63 หดตัว -6.6%, ปี 64 คาดโต 6.2%
- สศค. ปรับคาดการณ์นำเข้าปี 63 หดตัว -12.5%, ปี 64 คาดโต 7.8%
- สศค. คาดอัตราเงินเฟ้อปี 63 ขยายตัวติดลบที่ -0.8% ก่อนขยายตัว 1.3% ในปี 64
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 มาที่ -6.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -6.8 ถึง -6.3%)จากเดิมที่คาดไว้ที่ -7.7% สาเหตุที่ GDP ปีนี้ติดลบน้อยลง เนื่องจากการที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และมีมาตรการเยียวยาออกมาต่อเนื่อง
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนต.ค.63 ที่ -7.7% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
- สศค.เผยเศรษฐกิจไทย ธ.ค.63 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น หลังส่งออกพลิกกลับมาบวก
- เศรษฐกิจภูมิภาคธ.ค.63 ปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ แต่ยังกังวลโควิด
- ดัชนีเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคม.ค.ชะลอตัวบางพื้นที่ จากผลกระทบโควิด
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัวที่ -0.9% และการลงทุนภาคเอกชน -8.9% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่หดตัว -3.0% ต่อปี และ -9.8% ต่อปี ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นที่ -6.6% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -7.8% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวได้เร็วดีกว่าที่คาด หลังจากที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
น.ส.กุลยา กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 – 3.3%) ปรับลดจากการการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง
อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีนของประชากรในประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้น
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 2.5% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐ จะขยายตัวที่ 6.1% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวที่ 12.1% ต่อปี สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 6.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.7 – 6.7%) โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8 – 1.8%) ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
“เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ”
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19, ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนของประเทศต่าง ๆ และ นโยบายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีฐานะการคลังที่มีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
“จีดีพีปี 64 ที่ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้าค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วงที่มีการประมาณการครั้งก่อนยังไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง ทำให้ยังเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังฟื้นตัวได้ โดยจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และฐานะการคลังที่มีความมั่นคง มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบาของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป”
น.ส.กุลยา กล่าว
สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และจะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่โครงการเราชนะ วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5-0.6%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.2% และแนวโน้มเงินบาทที่ปีนี้คาดว่าจะยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับ 29.90 บาท/ดอลลาร์ โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.69-30.11 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 4.5% จากปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% ต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ทำให้มีความสามารถรองรับความผันผวนของปัจจัยภายนอกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะทรงตัวที่ระดับ 50.5 ดอลลาร์/บาเรล เพิ่มขึ้น 19.5% จากปีก่อน ตามความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกจะเริ่มกลับมาได้ หลังจากมีการแจกจ่ายวัคซีน และสต็อกน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
สำหรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2564 จะเหลือเพียง 5 ล้านคน ลดลง 25.8% ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 8 ล้านคน ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท ลดลง 22.1% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าลดลง เนื่องจากเป็นการประเมินตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในไทยที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และในหลายประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 6.7 ล้านคน ลดลง 83.2% รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท ลดลง 82.6%
ขณะที่การเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ปัจจุบันมีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 7.11 แสนล้านบาท คิดเป็น 71.2% และมีการเบิกจ่ายแล้ว 3.71 แสนล้านบาท คิดเป็น 52.1% แบ่งเป็น แผนงานด้านสาธารณสุข จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.96 หมื่นล้านบาท หรือ 43.8% เบิกจ่าย 1.56 พันล้านบาท คิดเป็น 7.9%
แผนงานด้านการช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชย วงเงิน 5.65 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 5.58 แสนล้าบาท คิดเป็น 98.9% เบิกจ่าย 3.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 57.8% ผ่านโครงการช่วยเหลือ เยียวยาอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง บัตรสวัสดิการ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการ และโครงการเราชนะ และแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 3.9 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.33 แสนล้านบาท คิดเป็น 34.1% เบิกจ่ายแล้ว 4.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 35% ผ่านโครงการคนละครึ่ง, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการกำลังใจ
น.ส.กุลยา ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ 5.07 แสนล้านบาท จากปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1.4 แสนล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)
Tags: GDP, Infographic, จีดีพี, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย